ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน35)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 เมษายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน35)

หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว  ขั้นตอนต่อไปก็คือ  การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ปกครองประเทศ

ในขั้นตอนการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ  มีความพยายามจากชนชั้นปกครองจากหลายพื้นที่ที่พยายามใส่เนื้อหาปกป้อง หรือรักษาสิทธิของรัฐของตน และ ชนเผ่าของตน   เพราะอินเดียประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆมากมาย  

ขณะเดียวกัน   กลุ่มคนที่มีสิทธิ์มีเสียงมากในประเทศอินเดียก็คือ  ชาวมุสลิม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  คือชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐจามมูและแคชมียร์  ซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรง  เพราะอาศัยอยู่ติดกับปากีสถาน


(แผนที่อินเดีย และ ปากีสถาน)

               ในที่สุด  กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของอินเดียก็คลอดออกมา   โดยการเห็นชอบของรัฐสภาซึ่งเสียงของสมาชิกข้างมากก็คือ พรรคคองเกรส ของเนห์รู ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1949  นำไปสู่การบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มกราคม ปีถัดไป


(เนห์รู(ซ้ายมือ) กับ สมาชิกของคณะรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลถาวร-ภาพจากวิกิพีเดีย)

นักวิชาการ  และ  นักการเมืองผู้รักชาติชาวฮินดู ได้ออกมาเตือนว่า   ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แทรกยาพิษที่ร้ายกาจเอาไว้  โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้

ยาพิษที่ว่านี้ก็คือ  มาตรา 370  

ทำไม  ชาวฮินดูผู้รักชาติในยุคนั้นจึงเรียก กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา370 ว่า “เป็นยาพิษ”  

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นสิ่งที่ชาวฮินดูผู้รักชาติได้ออกมาเตือนถึงภัยร้ายแรง และหายนะของมาตรา 370  ผมขอนำสาระอย่างเคร่าๆมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบก่อน

               มาตรา 370 ได้มอบสถานะพิเศษให้แก่ รัฐจามมู และ แคชเมียรเริ่มตั้งแต่ปี 1954  มีสาระสำคัญก็คือ  ให้อำนาจจามมู และ แคชเมียร์ ที่จะมีรัฐธรรมนูญของตัวเองแยกออกมาต่างหากจากรัฐธรรมนูญของอินเดีย    อนุญาตให้มีธงประจำรัฐแยกออกไปจากธงชาติของอินเดีย   และ อำนาจในการบริหารกิจการภายในรัฐของตนเองอย่างมีอิสระ

               ซึ่งรัฐอื่นๆ ไม่มี

               รัฐบาลกลางอินเดียไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานใดๆของรัฐ  รัฐบาลกลางจะทำได้ก็เพียงเรื่อง  กิจการป้องกันประเทศ  เศรษฐกิจการเงินในภาพใหญ่  กิจการต่างประเทศ  และ กิจการการสื่อสารเท่านั้น  

               มาตรา 370  ยังระบุถึงสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพย์สินภายในรัฐ  และ  สิทธิขั้นพื้นฐานของประชากร ที่แตกต่างไปจากสิทธิของประชากรของรัฐอื่นๆ

               บทบัญญัติของมาตรา 370  กำหนดว่าประชาชนชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในรัฐอื่นๆ จะไม่สามารถเข้ามาซื้อ หรือเป็นเจ้าของที่ดิน  ทรัพย์สินบ้านเรือนภายในรัฐจามมู และ แคชเมียร์ได้    ในทางกลับกัน  ประชากรของรัฐจามมู และ แคชเมียร์สามารถไปซื้อหา และเป็นเจ้าของทรัพย์สินในรัฐอื่นใดของอินเดียรัฐใดก็ได้  

จะว่าไป  สิทธิดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ 


(ภาพยนต์เรื่อง มาตรา 370 ที่ฉายอยู่ในช่องNETFLIXขณะนี้)

แต่มาตรา 370 ยังกำหนดสิ่งที่หนักหนาไปกว่านั้นอีก  ซึ่งผมจะเล่าต่อในสัปดาห์หน้า

ก่อนอื่น  ผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองหาชมภาพยนต์อินเดียที่กำลังฉายอยู่ในช่อง NETFLIX เรื่อง ARTICLE 370 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นภาพยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง  แต่ก็อิงเรื่องราวความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากทีเดียว  ขอให้สนุกกับการชมครับ  

               รอพบกับโปรแกรม เจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน ของฤดูกาลปลายปีนี้  ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป  บรรยายชมโดยผู้เชียวชาญอียิปต์ และเป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค 4 เล่ม  รวมถึงไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” สอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .