ซอกซอนตะลอนไป (23 มีนาคม 2568)
ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน33)
หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
มหาราชาฮารี ซิงห์ แห่งแคชเมียร์ เล่นตัวดึงเกมส์ไม่ตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าร่วมกับอินเดีย หรือ ปากีสถาน สักที (ทั้งๆที่ใจของเขาเลือกแล้วที่จะมาเข้าทางอินเดีย) สร้างความไม่แน่นอนในเรื่องดุลย์อำนาจในพื้นที่นี้อย่างยิ่ง
ในที่สุด ปากีสถาน ก็ไม่สามารถอดทนกลั้นหายใจรอฟังผลดังกล่าวได้อีกต่อไป ตัดสินใจเดินหมากตัวสำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายสิบปี
20 ตุลาคม ปี 1947 หรือหลังการแยกประเทศอินเดียเพียงแค่ 3 เดือนเศษ ปากีสถานส่งกองกำลังติดอาวุธของชนเผ่าพาชตุน(PASHTUN TRIBE)ซึ่งเป็นกองกำลังนอกเครื่องแบบของปากีสถานจากเมือง วาซิริสตาน(WAZIRISTAN) บุกเข้าไปในอาณาเขตของแคชเมียร์ หมายจะปิดโอกาสที่แคชเมียรจะเข้าร่วมกับอินเดีย และ ยึดครองแคชเมียรมาเป็นของตน

(นักรบชาวปาชตุน ขณะเดินทางเข้าแคชเมียร์ในปี 1947 – ภาพจากวิกิพีเดีย)
ขณะนั้น มหาราชาเองก็มีปัญหาปวดหัวภายในรัฐของตัวเองอยู่แล้ว กล่าวคือ จังหวัดพูนช์ (POONCH)ที่อยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชาแห่งแคชมียร์ แต่ที่ตั้งอยู่ใกล้ปากีสถานมาก เกิดปัญหาประชาชนลุกฮือก่อการกบถตั้งแต่ต้นปี 1947 ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลของมหาราชาเก็บภาษีสูงมากจนชาวบ้านไม่อาจดำรงชีพได้ และ การที่มหาราชาละเลยไม่ดูแลแก่ทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อินเดียส่งไปร่วมรบให้กับฝ่ายอังกฤษ จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และ พิการจำนวนมาก
แต่เหนือสิ่งอื่นใด แรงผลักดันทั้งหมดมาจากกลุ่มศาสนานิยมมุสลิมที่ต้องการเรียกร้องให้ มหาราชา ตัดสินใจนำแคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน
กองกำลังติดอาวุธของปากีสถานมีความสามารถทางการรบเหนือกว่ากองทัพของมหาราชามาก กองทัพมหาราชาจึงต้องถอยร่น เปิดโอกาสให้กองกำลังของปากีสถานรุกกินพื้นที่เข้ามาในแคชเมียร์เรื่อยๆ

(กองทัพของปากีสถาน เดินทัพเข้าสู่ดินแดนของจามมู และ แคชเมียร-ภาพจากวิกิพีเดีย)
23 ตุลาคม ปากีสถานส่งกองทัพของตนเองเข้าแคชเมียร์ เพื่อสมทบกับกองกำลังติดอาวุธพาชตุน ที่กำลังรุกคืบเข้าไปในดินแดนของมหาราชา เท่ากับปากีสถานประกาศตัวชัดว่าเป็นผู้รุกรานแคชเมียร์
มหาราชาไม่มีทางเลือกอื่น มิพักจะพูดถึงทางออกที่จะเป็นรัฐอิสระ นอกจากจะต้องหันไปร้องขอความช่วยเหลือต่อรัฐบาลอินเดียของนายเนห์รู ให้เข้ามาช่วยยับยั้งการรุกรานของปากีสถาน
ขณะนั้น รัฐบาลอินเดียของเนห์รู ตั้งมั่นพร้อมที่จะลุยอยู่แล้ว แต่ไม่เร่งรีบที่จะส่งกองกำลังเข้าไปช่วยมหาราชาในทันที แต่ยื่นเงื่อนไขด้วยการส่งเอกสารสัญญาที่เรียกว่า INSTRUMENT OF ACCESSION ให้แก่มหาราชาในวันที่ 26 ตุลาคม เพื่อแลกกับการเข้าไปช่วยเหลือทางทหารในการขับไล่กองทัพปากีสถานออกไป

(รัฐจามมู และ แคชเมียร์ )
สาระสำคัญของสัญญาดังกล่าวก็คือ มหาราชาฮารี ซิงห์ จะต้องลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงให้รัฐจามมู และ แคชเมียร์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเสียก่อน
มหาราชา ฮารี ซิงห์ ปรึกษาไปยัง ลอร์ด เมาท์แบตเทน(LORD MOUNTBATTEN) ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการทั่วไปของอินเดีย เมาท์แบตเทน ให้คำแนะนำว่าจามมูและแคชเมียร์ ควรเข้าร่วมกับอินเดีย
มหาราชาตอบตกลงกับเนห์รู ที่จะนำรัฐเจ้าชายทั้งหมดของพระองค์ อันประกอบด้วย จามมู(JAMMU) , แคชเมียร์(KASHMIR) , ดินแดนตอนเหนือ(NORTHERN AREA) , ลาดัคห์(LADAKH) , TRANS-KORAKORAM TRACT และ อัคไซ ชิน(AKSAI CHIN) เข้าร่วมกับอินเดีย
กองทัพอินเดียจึงเคลื่อนพลเข้าสู่ ดินแดนจามมูและแคชเมียร์ในทันที
นั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามยาวนานหลายสิบปีระหว่างอินเดียและปากีสถาน
รอพบกับโปรแกรม เจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน ของฤดูกาลปลายปีนี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป บรรยายชมโดยผู้เชียวชาญอียิปต์มากว่า 30 ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค 4 เล่ม รวมถึงไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” สอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ