ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน26)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 กุมภาพันธ์ 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน26)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อการลากเส้นแบ่งประเทศอินเดียของแรดคลิฟ   และมองว่า   ความหายนะจากความแตกแยก และ ขัดแย้งของประชาชนสองศาสนาจะรุนแรง  และโหดร้ายมากขึ้น


(แผนที่อินเดีย และ บังคลาเทศ จะเห็นว่าเมืองจิตตะกองเป็นติ่งติดอยู่ตรงพรมแดนอินเดีย และ บังคลาเทศ-ภาพจาก กูเกิ้ล แมพ)

               ซาร์ดาร์ พาเทล หนึ่งในนักสู้กู้ชาติอินเดียย้ำกับเนห์รูว่า  ดินแดนที่แบ่งไปเป็นปากีสถานตะวันออก จะต้องไม่รวมเมืองจิตตะกองเข้าไปด้วย   เพราะเมืองจิตตะกองมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู และ ชาวพุทธ   หากปล่อยไป  จะเกิดอันตรายต่อชาวฮินดูและพุทธที่อาศัยอยู่ที่นี่

               แต่เนห์รู ไม่ฟัง  

               อีกมุมหนึ่ง   วันที่ 15 สิงหาคม 1947  ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันประกาศอิสรภาพของอินเดียก็ดูเหมือนว่า   จะมีผู้อาวุโสจำนวนหนึ่งออกมาทักท้วง   รวมถึงนักโหราศาสตร์อินเดียจำนวนมากได้ออกมาคัดค้านว่า 

วันที่ 15 สิงหาคม 1947 ถือเป็นวันอัปมงคล หรือ วันอุบาทว์  ไม่ควรทำการที่เป็นมงคล   และเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนวันประกาศอิสรภาพเสียใหม่  ไม่เช่นนั้น   อินเดียจะเผชิญกับความเลวร้ายไม่สิ้นสุด

แต่ทุกอย่างถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้วโดยคำสั่งของรัฐบาลลอนดอน


(พื้นที่สีเขียว คือส่วนที่แยกออกไปจากอินเดียเป็นประเทศปากีสถาน)

ก่อนวันที่ 15 สิงหาคม 1947  เกิดการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ของประชากรที่ไม่ต้องการอาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกันกับรัฐบาลของอีกศาสนาหนึ่ง มีทั้งเดินทางเข้า และออกจากอินเดีย   โดยเฉพาะตามชายแดนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในแคว้นปัญจาบ  และ ภาคตะวันออกในรัฐเบงกอล

ประมาณว่า  ในขณะนั้นน่าจะมีชาวฮินดูอาศัยอยู่ในปากีสถานจำนวน 10 ล้านคน  ขณะเดียวกันก็มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในแผ่นดินอินเดียจำนวน 5 ล้านคน

ทันที่ที่เริ่มมีการอพยพตามแนวพรมแดน   การสังหารโหดด้วยความเกลียดชัง และโกรธแค้นบนพื้นฐานเรื่องศาสนาก็เกิดขึ้น

โดยเฉพาะบริเวณรัฐแคชเมียร 

เส้นทางหลักในการเดินทางข้ามไปมาตรงจุดพรมแดนรัฐแคชเมียรมีรถไฟเป็นพาหนะสำคัญ  นอกเหนือจากทางรถยนต์   เพราะสะดวกกว่า และเดินทางได้ทีละจำนวนมากๆ


(รถไฟสายมรณะขบวนหนึ่ง จากกรุงเดลี มุ่งหน้าไปยังเมืองลาฮอร์ ซึ่งเป็นของประเทศปากีสถาน)

รถไฟบนเส้นทางนี้จึงกลายเป็นรถไฟสายมรณะ  ที่ผู้อพยพชาวฮินดูที่อพยพจากดินแดนที่จะกลายเป็นของปากีสถานในอนาคตเข้ามาทางฝั่งอินเดีย  แต่ถูกชาวมุสลิมดักสังหารระหว่างทาง  และในทางกลับกัน  ผู้อพยพชาวมุสลิมที่ต้องการเดินทางออกจากอินเดียไปยังดินแดนของปากีสถานก็ถูกสังหารระหว่างทาง เป็นการแก้แค้นด้วยเช่นกัน

ประมาณว่า   มีผู้ถูกสังหารระหว่างเดินทางประมาณ 1 ล้านคน  

คานธี ถึงกับต้องเอ่ยปากขอร้องให้ ลอร์ด เมาท์ แบตเทน รับหน้าที่ GOVERNOR-GENERAL เพื่อดูแลประเทศอินเดียต่อไปอีกสักระยะหนึ่งซึ่งแน่นอนว่า   เป็นไปไม่ได้

ปัญหาปลีกย่อยของการแยกประเทศ และ แบ่งสินทรัพย์มรดกต่างๆยังมีอีกมากมาย  เช่น  กำลังทหารและตำรวจ  อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆจะแบ่งกันอย่างไร   แม้กระทั่ง  อุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆก็เป็นปัญหา  เช่น  โต๊ะเก้าอี้  พิมพ์ดีด  และอื่นๆ   แต่ผมจะไม่นำมาพูดในที่นี้  เพราะมันมีรายละเอียดมาก

การแบ่งสมบัติครั้งนี้อินเดียได้ส่วนแบ่งมากกว่า  เพราะทั้งจำนวนประชากรที่มากกว่า  พื้นที่ของประเทศใหญ่กว่า   และ การเข้าถึงทรัพย์สินที่จะแบ่งได้เร็วกว่า 

ในที่สุด   ก็มาถึงวันที่ 14 สิงหาคม 1947   ประชาชนทั้งประเทศต่างก็เฝ้ารอคอยช่วงเวลาแห่งอิสรภาพที่จะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น   มีชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยคิดว่า 

“อิสรภาพจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น   เป็นยาวิเศษที่จะรักษาโรคทุกอย่างของพวกเขา  แม้กระทั่งความยากจน”

พวกเขาไม่รู้ว่า  ปัญหา  ความรุนแรง  และ การเสียเลือดเนื้อและชีวิต  กำลังรอเขาอยู่บนถนนที่จะต้องเดินไปข้างหน้า   เป็นสิ่งที่ชาวอินเดียจะต้องยอมแลกมาเพื่ออิสรภาพ

ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการขีดเส้นแบ่งประเทศของแรดคลิฟ


(ซีริล แรดคลิฟ ประธานกรรมการขีดเส้นแบ่งพรมแดนอินเดียและปากีสถาน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

เรื่องที่น่าฉงน  และ  เป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ  แรดคลิฟได้เผาทำลายเอกสารการประชุมของคณะกรรมการขีดเส้นแบ่งพรมแดนที่เขาทำในช่วง 1 เดือนไปจนหมดสิ้น  แล้วก็รีบเดินทางกลับประเทศตัวเปล่า  และไม่เคยกลับมาที่อินเดียอีกเลย

ทำไม   เขาจึงทำเช่นนั้น

เป็นความลับดำมืดที่ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับการทำงานของเขา

               แรดคลิฟฟ์ ได้แสดงความในใจของตัวเองในภายหลังว่า

               “ผมไม่มีทางเลือกอื่น  ช่วงเวลาที่มอบให้ผมมันแสนสั้น ทำให้ผมไม่อาจทำงานให้ดีกว่านี้ได้   หากให้ผมมาทำงานนี้อีกครั้งในช่วงเวลาเดิม  ก็จะได้งานออกมาแบบเดิม  อย่างไรก็ตาม   หากผมมีเวลาสัก 2-3 ปี  ผมก็อาจจะทำงานดังกล่าวได้ดีขึ้น”

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .