ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน22)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 มกราคม 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน22)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

เที่ยงตรงของวันที่ 16 สิงหาคม 1946   ผู้ชุมนุมชาวมุสลิมก็หลั่งไหลกันมาจนเต็มลานอนุสรณ์ อ๊อคเทอร์โลนี่ เพื่อทำพิธีละหมาด  จากนั้นกิจกรรมการปราศรัยเพื่อ “วันปฎิบัติการตรง” ก็เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น.  

รายงานของตำรวจระบุว่ามีผู้ร่วมชุมนุนประมาณ 30,000 คน  ซึ่งขัดแย้งกับรายงานของหน่วยงานพิเศษของตำรวจที่ประมาณว่า  น่าจะมีจำนวนมากถึง 500,000 คน ในขณะที่หนังสือพิมพ์  STAR OF INDIA ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของฝ่ายมุสลิมบอกว่า  มีผู้ชุมนุมประมาณ 100,000 คน

ต้องไม่ลืมว่า  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 80 ปีแล้ว  ความแม่นยำทางเท็คโนโลยี  การสื่อสาร  และ ความเชี่ยวชาญชำนาญของหน่วยงานรัฐในการรับมือกับการชุมนุมยังไม่ดีเหมือนกับในปัจจุบันนี้  ดังนั้น  การคำนวนนับจำนวนคนจึงอาจผิดพลาดได้มาก

เกือบทุกคนที่มาชุมนุมจะมีอาวุธ เช่น  ท่อนเหล็ก  หรือ ไม้กระบองที่ทำจากไม้ไผ่ ติดตัวมาด้วย


(คาห์วาจา นาซิมมุดดิน)

ผู้ปราศรัยหลักบนเวทีมีอยู่ 2 คนคือ  คาห์วาจา นาซิมมุดดิน   และ  ฮูสเซน ชาห์ฮีด ชูห์ราวาร์ดี (HUSEYN SHAHEED SUHRAWARDY)ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐเบงกอล(CHIEF MINISTER OF BENGAL)


(ฮูสเซน ชาห์ฮีด ชูห์ราวาร์ดี -ภาพจากวิกิพีเดีย)

การปราศรัยของ นาซิมมุดดินในช่วงแรกออกไปในแนวทางสันติ  และ ให้ผู้ออกมาประท้วงพยายามควบคุมตัวเองไม่ให้ไหลไปตามกระแส  แต่พอช่วงท้ายของคำปราศรัย   เขากลับเปลี่ยนแนวการพูดด้วยการเพิ่มกระแสความตึงเครียดในหมู่ชาวมุสลิมด้วยการบอกว่า 

“จนกระทั่ง 11.00 น   มีรายงานว่า  บรรดาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดล้วนเป็นชาวมุสลิม  และ ตอกย้ำอีกครั้งว่า  ชุมชนชาวมุสลิมควรจะต้องออกมาล้างแค้น  หรือ เพื่อป้องกันตนเองด้วย”

การจลาจลจึงเกิดขึ้นตามมา   มีรายงานว่า รถบรรทุกหลายคันได้เดินทางเข้ามาในเมืองกัลกัตตา  ในรถดังกล่าวได้ขนเอาพวกกุ๊ย และ อันธพาลมุสลิมที่พกเอาก้อนหิน  ขวด ที่สามารถใช้เป็นอาวุธติดตัวมา   จากนั้นก็บุกเข้าไปทำลายร้านค้าของชาวฮินดู

การจลาจลเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  จนในที่สุดเวลา 6 โมงเย็น   รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเบงกอลต้องประกาศเคอร์ฟิว   หลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง   ทหารก็ถูกส่งเข้าไปควบคุมถนนสายหลักของเมือง   เพื่อให้ตำรวจเข้าไปคุ้มกันชาวฮินดูที่อาศัยอยู่ในสลัมที่อยู่ห่างไกลออกไปและยากต่อการเข้าถึง


(ภาพถ่ายในเมืองกัลกัตตา หลังจากเกิดเหตุการณ์ “ปฎิบัติการณ์ตรง” ของ ชาวมุสลิม-ภาพจากวิกิพีเดีย  ท่านผู้อ่านที่อยากจะดูภาพในเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ GETTYIMAGES ได้ครับ)

การสังหารโหดที่รุนแรงมากกว่านั้นเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น   ทำให้ทหารต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์  และขยายพื้นที่ควบคุมออกไปมากขึ้นจนเหตุการณ์ดีขึ้น

กระนั้น   ก็มีชาวฮินดูในสลัมจำนวนหนึ่งถูกทำร้าย และ สังหาร  เพราะอยู่นอกเขตการดูแล และ ควบคุมของทหาร 

จนกระทั่งวันที่ 18  ก็ยังมีพวกก่อความวุ่นวายจากนอกเมืองทะยอยเข้ามาเรื่อยๆ  เพราะตำรวจและทหารสามารถจับกุมรถบัส และ แท็กซี่ ได้จำนวนหนึ่ง  และได้ตั้งข้อหาชาวซิกห์ และ  ชาวฮินดูที่โดยสารรถมาในข้อหาพกอาวุธประเภทมีดดาบ  ท่อนเหล็ก  และ  ปืน  เข้ามาในเขตเมือง

การปะทะกันแบบสงครามย่อยๆระหว่างชาวฮินดู และ มุสลิม ดำเนินต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์

จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม  ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียก็สั่งการให้กองทัพอังกฤษ และ อินเดีย  พร้อมทั้งกองทหารกูรข่า เข้ามาจัดการกับเหตุวุ่นวายในเมือง

คาดกันว่า  น่าจะมีผู้เสียเชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ประมาณ 10,000 คนหรือมากกว่านั้น  ส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู   แม้จะมีรายงานว่า  มีคนงานชาวมุสลิมถูกสังหารเหมือนกัน


(ลอร์ด วาเวลล์ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียในวันปฎิบัติการตรง-ภาพจาก BRITANNICA)

ลอร์ด วาเวลล์  ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียได้ให้ความเห็นว่า  กองทัพน่าจะส่งทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่แรก   เพราะกองทัพอังกฤษมีความพร้อมที่จะทำงานในทันทีที่ได้รับคำสั่งอยู่แล้ว  

ทำไม   ทหารจึงไม่เข้ามาควบคุมสถานการณ์เสียตั้งแต่แรก   รอคำตอบในสัปดาห์หน้าครับ

สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม  ระหว่างวันที่ 12-21 กุมภาพันธ์ 2568  ซึ่งเป็นกรุ๊ปสุดท้ายของฤดูกาลนี้ และจะปิดกรุ๊ปในวันที่ 12 มกราคมนี้   สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร 0885786666 หรือ  LINE ID – 14092498   ในรายการเพิ่มอาบูซิมเบล ให้เป็นทางเลือกอีกด้วย   ราคาจะลดลงจากราคาในรายการอีก 5,000 บาท 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .