ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน16)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 พฤศจิกายน 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน16)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ผมจะขอรวบรัดประวัติศาสตร์การเข้ามาของมุสลิมสู่อินเดียให้สั้นลง  ท่านผู้อ่านจะได้ไม่เบื่อครับ

นักรบมุสลิม บุกเข้ามาในอินเดีย  และ ปกครองอินเดียทั้งทางตรงและทางอ้อม  เริ่มจากระบบสุลต่านแห่งเดลี ที่ปกครองอยู่นาน 320 ปี ตั้งแต่ปี 1206-1526  ต่อมาก็เป็นราชวงศ์โมกุล ที่ปกครองนาน 331 ปีตั้งแต่ปี 1526 ถึง 1857


(บาเบอร์ ผู้สถาปนาราชวงศ์โมกุลแห่งอินเดีย-ภาพจากวิกิพีเดีย)

(รายละเอียดของทั้งสองราชวงศ์  ผมจะเขียนถึงในโอกาสต่อไปครับ  หากท่านผู้อ่านสนใจ)

จนเปลี่ยนมือตกไปเป็นของอังกฤษในที่สุด

ทั้งระบบสุลต่านแห่งเดลี และ ราชวงศ์โมกุล ล้วนเป็นชาวมุสลิม  แตกต่างกันเฉพาะเรื่องเผ่าพันธุ์  ที่ไม่ใช่พวกอาหรับโดยตรง  แต่เป็นพวกมองโกล  เปอร์เชีย  เติร์ก  อัฟกานิสถาน และ อุซเบกิสถาน  เป็นต้น


(ป้อมปราการอักรา ที่เมืองอักรา ศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชวงศ์โมกุลในช่วงเวลาหนึ่ง-ภาพจากวิกิพีเดีย)

โดยศูนย์กลางแห่งอำนาจของสุลต่าน และ ราชวงศ์โมกุล จะอยู่ในที่กรุงเดลี  และ เมืองอะกรา(AGRA)ทางเหนือเป็นหลัก   ทำให้ชาวฮินดูผู้มีความรู้  ความคิด  และ  ความสามารถที่ไม่อาจทำใจทนต่อระบบการปกครองแบบใช้กฎหมายศาสนาที่เรียกว่า “กฎหมายชาเรีย” และ การกดขี่ของผู้ปกครองมุสลิมได้  จึงย้ายถิ่นที่อยู่ออกไปให้ห่างจากศูนย์อำนาจจากเดลี และ อักราไปอยู่ที่อื่น เช่นที่ กอลกัตตา  เป็นต้น


(เซอร์ โธมัส โร กับ จักรพรรดิ จาฮังกีร์ แห่งโมกุล- ภาพจากวิกิพีเดีย)

เมื่ออังกฤษส่ง โธมัส โรว์ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เข้ามายังอินเดียเพื่อขออนุญาตทำการค้าเป็นครั้งแรกในนามของบริษัท อีสต์ อินเดีย ในปี 1616 ตรงกับยุคของจักรพรรดิจาฮังกีร์ ของราชวงศ์โมกุล  

ว่ากันว่า   โรว์ กลายเป็นคนโปรดของจาฮังกีร์อย่างรวดเร็ว   ทั้งสองจะดื่มไวน์กันอย่างสนุกสนานแทบทุกวัน

จากวันนั้นเป็นต้นมา   บทบาทของสองประเทศมหาอำนาจทางทะเลคือ ดัตช์ และ โปรตุเกส ที่เข้ามาค้าขายที่อินเดียก่อนอังกฤษก็ค่อยๆลดบทบาทลงไปจนแทบจะหมด  

ท่านผู้อ่านอาจไม่ทราบว่า  ประเทศอังกฤษในวันนั้นอยู่ในสภาพที่ยากจนมาก  คนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพขัดสนจนแทบจะไม่มีอะไรจะกิน   เพราะประเทศเพิ่งจะผ่าน “สงครามร้อยปี” กับฝรั่งเศสมา    ประชาชนส่วนใหญ่อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้ 

แตกต่างจากประเทศอินเดียที่มีความอุดมสมบูรณ์   ภูมิประเทศ และ ภูมิอากาศเหมาะสมกับการเพาะปลูก   อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติทั้งใต้ดินและบนดินก็มีมากมายเหลือเฝือ

โดยรวมก็คือ  อินเดียมีความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์กว่าอังกฤษมากนัก

นี่คือเหตุผลที่อังกฤษไม่ยอมปล่อยมือจากอินเดียเป็นเวลาหลายร้อยปี


(พระราชวัง ฟาห์เตปูร์ สิครี ที่สร้างโดยจักรพรรดิ อัคบาร์ แห่งโมกุล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

บันทึกระบุว่า  เมืองอักรา  และ  เมืองฟาเตห์ปู สิครี ในยุคนั้น  มีความยิ่งใหญ่ทั้งขนาด  และ ความอลังการ์มากกว่ากรุงลอนดอนด้วยซ้ำ

ความรู้สึกของชาวฮินดูที่มีต่อผู้ปกครองชาวมุสลิม เป็นบาดแผลที่ลึกซึ้งจนยากจะเยียวยา   ด้วยเหตุนี้   เมื่ออังกฤษใช้อำนาจทางทหารที่เหนือกว่าเข้ากดขี่ข่มเหง และ  แทรกแซงอำนาจของราชวงศ์โมกุล  คนอินเดียส่วนใหญ่ที่เป็นชาวฮินดูจึงไม่คิดจะช่วยราชวงศ์โมกุลแต่อย่างใด 

คนจำนวนมากคิดว่า   ก็ให้พวกมุสลิมไปช่วยกันเองแล้วกัน

ความรู้สึกของความเป็นชาติแบบหนึ่งเดียวของชาวอินเดียในขณะนั้นยังไม่มี   ต่างก็คิดแต่จะเอาตัวรอด 

แม้กระทั่งเมื่อทหารอังกฤษกดขี่ข่มเหงชาวอินเดียในยุคบริติช ราช   ทั้งทุบตีทำร้าย  และ  สังหารด้วยอาวุธปืน   ชาวอินเดียก็ได้แต่มองดูห่างๆ   ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่เป็นทหาร หรือ ตำรวจของอังกฤษก็ร่วมมือกันทำร้ายชาวอินเดียด้วยกันเองด้วยซ้ำ

ผิดกันกับชาวจีน เมื่อเทียบกับกรณีความขัดแย้งกับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับผม  ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568  นี้   เหลือเวลาก่อนที่เราจะปิดกรุ๊ปเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น   เราไม่ใช้เอกสารใดๆในการทำวีซ่า  สนใจติดต่อ โทร 088 5786666 หรือ LINE ID -14092498    

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .