ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน15)

ซอกซอนตะลอนไป                           (17 พฤศจิกายน 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน15)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

คำร่ำลือเรื่องความมั่งคังของอินเดีย ว่าเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์แพร่กระจายออกไปสู่ดินแดนทางด้านตะวันตกของอินเดีย  เรื่อยไปจนถึงตะวันออกกลาง  จากปากคำพ่อค้าชาวอาหรับที่เข้ามาค้าขายกับชาวอินเดียโดยทางเรือมาขึ้นฝั่งที่ชายทะเลด้านตะวันตก  บริเวณรัฐเคราลาในปัจจุบัน

จนมีคำพูดเปรียบเปรยว่า

“อินเดีย เปรียบเสมือนห่านทองคำ” ที่ใครๆก็สามารถมารีดเอาไข่ทองคำออกไปได้โดยไม่มีวันหมด

มาห์มุด ไม่เพียงแต่ปล้นทรัพย์สมบัติจากอินเดียไปเท่านั้น  แต่ได้กวาดต้อนผู้คนจำนวนมหาศาลกลับไปเป็นทาส


(สงครามของจายาปะละ กับ มาห์มุด  ที่โชคไม่เข้าข้างกษัตริย์จายาปะละ เพราะประสบกับพายุหิมะที่คาดไม่ถึง – ภาพจากวิกิพีเดีย)

บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า   หลังจากมาห์มุด ทำสงครามแห่งเปชะวาร์ ในปี 1001ได้ชัยชนะเหนือกษัตริย์ชาห์ฮี แห่ง จายาปะละ(JAYAPALA)  มาห์มุดได้กวาดต้อนชาวฮินดูที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลามกลับไปกว่า 100,000 คน

เชลยที่ถูกกวาดต้อนไปนี้  จะถูกขายเป็นทาสไปยังประเทศต่างๆ ไกลจนถึงกรุงไคโร อียิปต์

ดังนั้น  ในประชากรในประเทศต่างๆเหล่านี้  จึงมีบรรพบุรุษเป็นชาวฮินโดสถาน หรืออินเดีย


(กษัตริย์ จายาปะละ ซึ่งเป็นชาวฮินดู- ภาพจากวิกิพีเดีย)

บนเส้นทางกลับ มาห์มุดจะต้องข้ามเทือกเขาหิมาลัยเพื่อไปยังอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นประเทศอัฟกานิสถาน  เป็นเส้นทางที่โหดมากๆ  เพราะทั้งความสูงของภูเขาที่สูงประมาณ 7700 เมตร  อากาศที่เบาบาง และ หนาวเหน็บราวกับมีดเฉือนเข้าไปในกระดูก ทำให้เชลยจำนวนมากเสียชีวิต

เส้นทางนี้ถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า  “ฮินดูคุช” (HINDU KUSH) ซึ่งแปลว่า  ผู้สังหารชาวฮินดู


(เทือกเขา ฮินดูคุช ที่กั้นพรมแดนระหว่างอินเดีย(ในอดีต) และ อัฟกานิสถาน- ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่สิ่งที่นักรบชาวมุสลิมได้ทิ้งมรดกบาปเอาไว้ในแผ่นดินภารตะ  และกลายมาเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาและความแตกแยกในแผ่นดินอินเดียมาจนทุกวันนี้ก็คือ

ศาสนาอิสลาม  

นักรบมุสลิมบังคับให้ชาวฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม  หากไม่ยอมก็จะถูกสังหาร  หรือจับไปเป็นเชลย   ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนศาสนาครั้งใหญ่ในอินเดีย

ก่อนหน้าที่ศาสนาอิสลามจะเผยแพร่เข้ามา  อินเดียมีเพียงศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลัก  จนเรียกแผ่นดินนี้ว่า  ฮินดูสถาน  นอกจากนั้น  ก็มีศาสนาเชน  ศาสนาพุทธ  และ  ศาสนาซิกห์ ฯลฯ

แต่คนต่างศาสนาเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ   เพราะเขาถือว่า   มาจากรากเดียวกัน คือ ฮินดู  

ขณะเดียวกัน  ชาวเปอร์เชี่ยนที่นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียนก็เริ่มอพยพออกจากเปอร์เชียตั้งแต่ศตวรรษที่ 8  เพราะไม่อาจทนต่อการบังคับ  กดขี่ของชาวมุสลิมได้   ชาวเปอร์เชี่ยนเหล่านี้อพยพเข้ามาสู่อินเดียโดยทางเรือเป็นหลัก และมาขึ้นฝั่งที่บริเวณรัฐกุจราฐ และ เมืองมุมไบ

ชาวเปอร์เชี่ยน  หรือ  ชาวฟาร์ซี เป็นนักคิดคำนวณที่มีสมองปราดเปรื่อง  มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่อินเดียเป็นอย่างมาก  ยกตัวอย่างเช่น  ตระกูลตาต้า ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจมากมายนับไม่ถ้วน

ชาวฟาร์ซี  สามารถอยู่ร่วมกับคนพื้นถิ่นเดิม คือ  ชาวฮินดู  พุทธ  ซิกห์  และ  เชน ได้อย่างกลมกลืน เสมือนเครือญาติ   แม้จนกระทั่งทุกวันนี้

               เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์กับชาวมุสลิม    พบกับคำตอบในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .