ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน11)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 ตุลาคม 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน11)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ทันทีที่แรดคลิฟฟ์ เดินทางถึงอินเดียเมื่อวันที่ 8 กรกรฎาคม ปี1947   เขา และ ลอร์ด เมาท์ แบตเทน ก็เดินทางไปยังเมืองลาฮอร์ และ กัลกัตตา  เพื่อพบกับตัวแทนของพรรคคองเกรส และ  ตัวแทนของกลุ่มมุสลิมลีก  ซึ่งหลักๆก็คือ เนห์รู และ จินนาห์ เพื่อคุยกันถึงเรื่องการขีดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถานตะวันตก และ อินเดียกับปากีสถานตะวันออก


(ที่ตั้งของเมืองลาฮอร์ ทางตะวันตก  และเมืองกัลกัตตา ทางด้านตะวันออกของอินเดีย-ภาพจากอินเตอร์เนต)

หลังจากนั้น   แรดคลิฟฟ์ ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด   ชุดแรกคือ  คณะกรรมเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีแรดคลิฟฟ์ เป็นประธาน  มีตัวแทนจากพรรคคองเกรส และ กลุ่มมุสลิมลีก อีกฝ่ายละ 2 คนร่วมเป็นกรรมการ

ซึ่งมันก็คือ DEAD LOCK หรือ ภาวะชงักงันที่ถูกวางเอาไว้อย่างจงใจ  เพราะคะแนนเสียงของทั้งสองฝ่ายจะเท่ากัน  จึงเท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายได้ใส่พานยกอำนาจการตัดสินใจในประเด็นต่างๆที่ยังตกลงไม่ได้ไปให้แก่ประธาน ซึ่งก็คือ แรดคลิฟฟ์

คณะกรรมการอีก 2 ชุด  คือ คณะกรรมการพรมแดนด้านเบงกอล และ  คณะกรรมการพรมแดนด้านปัญจาบ ซึ่งแต่ละคณะประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์

แต่ปัญหาก็คือ  ไม่มีกรรมการคนใดมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อนเลย 

สิ่งสำคัญก็คือ  ทางรัฐบาลลอนดอนเองก็รู้ดีว่า  ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมในการแบ่งพรมแดนในครั้งนี้  แต่เพราะไม่อยากเสียหน้า  รัฐบาลลอนดอนจึงไม่ติดต่อไปยังประเทศอื่นๆเพื่อขอผู้มีประสบการณ์มาช่วย

การประชุมเต็มไปด้วยปัญหาความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน  เมื่อมุสลิมลีกมีปัญหาในการขีดเส้นแบ่งพรมแดนในรัฐปัญจาบ เพราะอยากได้จังหวัดมาเพิ่ม โดยอ้างว่ารัฐดังกล่าวมีชาวมุสลิมมากที่สุด  ทั้งๆที่มีชาวมุสลิมเพียง 55.7 เปอร์เซนต์เท่านั้น  และในฝั่งเบงกอลก็มีชาวมุสลิมเพียง 54.4 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

การเจรจาต่อรองของทุกฝ่าย ต่างพกเอาความไม่ไว้วางใจที่ฝังในจิตใจมานานมาประชุมด้วย   ตัวแทนของมุสลิมลีกไม่ยอมรับการอยู่ภายใต้การดูแลของฮินดู  ฮินดูก็ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม   มุสลิมหันไปหาชาวซิกห์ให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของตนในรัฐปัญจาบ  แต่ชาวซิกห์ก็ไม่ไว้ใจมุสลิมเหมือนกัน

ชาวซิกห์ยังเตือนอังกฤษว่า  หากยังผลักดันให้ดินแดนที่มีชาวซิกห์อาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น เมืองอัมริตสาร์ และ เมืองเกอร์ดาสเปอร์ ไปอยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน  จะทำให้ทหารของอังกฤษที่เป็นชาวซิกห์เสียความรู้สึก และ เสียขวัญที่จะปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้ 


(ทหารอังกฤษที่เป็นชาวซิกห์ ปี 1858 )

ชาวซิกห์บางกลุ่มเริ่มคิดที่จะแยกออกไปเป็นรัฐอิสระเรียกว่า  คาห์ลิสตาน(KHALISTAN) และเข้าไปเป็นหนึ่งในสหพันธรัฐกับอินเดีย หรือ ปากีสถานก็ได้

แต่สุดท้าย   แนวคิดดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป เมื่อได้รับการกดดันจากกลุ่มชาตินิยมอินเดีย

ทำไม  ผู้คนที่เกิดในแผ่นดินเดียวกัน  สืบทอดลูกหลานกันมาหลายร้อยรุ่น  จึงมีความไม่ไว้วางใจกันมากมายขนาดนี้ 

รอพบคำตอบในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .