ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน9)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 ตุลาคม 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน9)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ก่อนที่อังกฤษจะตัดสินใจคืนอิสรภาพให้แก่อินเดียนั้น   อังกฤษคงจะตระหนักรู้ดีอยู่แล้วว่า   ไม่สามารถรั้งอินเดียเอาไว้ให้อยู่ในความครอบครองของตัวเองได้อีกต่อไป

ลำพังปัญหาที่อังกฤษเผชิญอยู่บนเกาะอังกฤษก็หนักหนาอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง  อันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2  แม้ว่าอังกฤษจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะก็ตาม 

เงินในท้องพระคลังของอังกฤษแทบจะไม่เหลือ  เพราะใช้ในการทำสงครามโลกครั้งที่ 2  จึงไม่ต้องพูดถึงงบประมาณที่จะจัดการดูแลอินเดียให้เรียบร้อยได้ 

แม้กระทั่งอาหารการกินก็ยังต้องใช้ระบบปั่นส่วน

นอกจากนี้  อินเดียในปี 1947   ไม่เหมือนอินเดียเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วตอนที่ราชสำนักอังกฤษเข้ายึดครองอย่างเต็มตัว   เพราะในช่วงก่อนหน้าปี 1947  คนอินเดียได้ออกมาเรียกร้องอิสรภาพอย่างแหลมคม  สร้างประเด็นสู่นานาชาติได้มาก  และ  หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวกับการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของคานธี  และ ของผู้นำอย่าง เนตาจี สุภาษ จันทรโพส

ที่สำคัญก็คือ   เกิดการขยายตัวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย  โดยมีญี่ปุ่นเป็นคู่สงครามที่น่าเกรงขาม  และ  กำลังแผ่ขยายอำนาจไปทั้งภูมิภาค  หากอังกฤษยังดึงดันที่จะยึดอำนาจในอินเดียต่อไป   ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปะทะกับญี่ปุ่นแบบซึ่งหน้า(ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกจะสงบ)  ไหนยังจะต้องเผชิญหน้ากับลัทธิคอมมิวนิสต์ จากทั้งจีน และ รัสเซียที่โลกตะวันตกกลัวนักกลัวหนาราวกับเห็นผีหลอกตอนกลางวัน


(เนตาจี สุภาพ จันทระโพส – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เหนือสิ่งอื่นใด  ขบวนการกู้ชาติอินเดียสายเหยี่ยวที่นำโดย เนตาจี สุภาษ จันทรโภษ มีแนวคิดที่แตกต่างจากคานธี ตรงที่เขามองว่า   การจะได้มาซึ่งอิสรภาพจะต้องโดยการต่อสู้  และ กำลังมองหาพันธมิตรที่จะมาช่วยในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย

ชาติพันธมิตรที่ว่าก็คือ   เยอรมัน และ  ญี่ปุ่น

ในโอกาสต่อๆไป  ผมจะนำเรื่องราวของ เนตาจี  สุภาษ จันทราโภษ มาเล่าให้ฟังครับ

ในที่สุด   อังกฤษ ต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้าย  คือการถอนตัวออกจากอินเดีย  และ  พม่า


(พระเจ้าจอร์จ ที่ 6 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ประกอบกับผลการเจรจา 4 ฝ่ายของเมาท์ แบตเทน ในอินเดีย ยืนยันแล้วว่า  ไม่มีทางที่จะห้ามไม่ให้ปากีสถานแยกประเทศแน่นอน (อันที่จริง  รัฐบาลลอนดอนได้ตัดสินใจตั้งแต่แรก  ก่อนที่ลอร์ด เมาท์ แบ็ตเทน จะเดินทางไปอินเดียแล้วว่า  อินเดียไม่มีทางจะเป็นประเทศเดียวได้อีกต่อไป)

               แต่รัฐบาลอังกฤษก็ทำไปแบบเสียมิได้

               ในที่สุด   วันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1947  รัฐสภาของสหราชอาณาจักร ก็ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายให้อิสรภาพแก่อินเดียปี 1947”  ลงพระนามโดยพระเจ้า จอร์จ ที่ 6  โดยกำหนดวันเวลาไว้เรียบร้อยว่า  วันที่ 15 สิงหาคม ปี 1947  อินเดียจะต้องเป็นอิสระ

หมายความว่า   เมาท์ แบตเทน  มีเวลาในการดำเนินการเพื่อประกาศอิสรภาพเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น

               สาระสำคัญของ “กฎหมายให้อิสรภาพแก่อินเดียปี1947” ระบุให้การแบ่งประเทศอินเดียออกเป็น 2 ประเทศ  คือ  อินเดีย  และ  ปากีสถาน โดยให้ยึดการแบ่งประเทศโดยยึดถือจากพื้นที่ไหนที่มีประชาชนนับถือศาสนาไหนมากกว่ากัน

               อินเดีย จะเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู   ในขณะที่พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จะเป็นประเทศปากีสถาน  


(ประเทศปากีสถาน(สีเขียว) ที่แบ่งออกเป็นปากีสถานตะวันตก และ ปากีสถานตะวันออก – ภาพจากกูเกิ้ล)

ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  ประเทศปากีสถาน จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  โดยมีประเทศอินเดียคั่นกลาง  กลายเป็นปากีสถานตะวันตก มีเมืองหลวงอยู่ที่ การาจี  และ  ปากีสถานตะวันออก มีเมืองหลวงอยู่ที่เมือง ธากา  (ปัจจุบันนี้คือ  ประเทศบังคลาเทศ)

อังกฤษรู้ว่า   นั่นจะนำมาซึ่งปัญหาที่ไม่มีวันจบในเวลาต่อมา   แต่อังกฤษไม่สน

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรโปรดติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .