ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 กันยายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน5)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

หลังจากบากัต ซิงห์ ถูกคุมขังอยู่เกือบ 1 ปี   เขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

               การตายของเขาก่อให้เกิดกระแสกดดันไปยังหลายๆด้านอย่างรุนแรง   ส่วนหนึ่งพุ่งตรงไปยัง มหาตะมะ คานธี ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมช่วยเหลือบากัต ซิงห์   แม้ว่า  เขาจะอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือได้เพื่อให้เปลี่ยนโทษประหารให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต


(บากัต ซิงห์ ขณะถูกคุมขัง – ภาพจากวิกิพีเดีย)

อีกกระแสหนึ่งที่พุ่งตรงไปยังรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอน  ทำให้รัฐบาลลอนดอนต้องพิจารณาอย่างหนัก   เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า   ชาวอินเดียกำลังจะหมดความอดทนต่อการกดขี่ของอังกฤษ   และกำลังจะตอบโต้โดยใช้ชีวิตของชาวอังกฤษเป็นเดิมพัน

นี่ยังไม่พูดถึงสิ่งที่อังกฤษเรียกว่า “กบถซีปอย” ในปี 1857 หรือ  การลุกฮือขึ้นก่อการกบถต่อการปกครองของ บริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด ในปี 1857 ซึ่งเกิดขึ้นที่เมือง มีรุต อยู่ห่างจากเมืองเดลีไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปประมาณ 64 กิโลเมตร

การก่อการกบถเริ่มขึ้นจากการที่พลทหารชาวอินเดียที่เรียกว่า  “ซีปอย”  เป็นทหารของบริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด เนื่องจากความไม่พอใจ  และ  ไม่ไว้ใจต่อบริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด ในหลายๆเรื่อง  เช่น  การเก็บภาษีที่ดินกับชาวอินเดียในอัตราที่แพงมาก  การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่บริษัทต่อเจ้าที่ดินที่ร่ำรวย  และ  การปฎิบัติต่อเจ้าชายในรัฐอิสระหลายรัฐ


(เครื่องแบบของทหารซีปอย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

รวมทั้ง   ชาวอินเดียมีความเคลือบแคลงใจต่อการที่บริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด อ้างว่า   การเข้ามาทำธุรกิจในอินเดียก็เพื่อที่จะช่วยพัฒนาอินเดียให้ดีขึ้น 

แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นตรงกันข้าม

เริ่มจากทหารในค่ายเมืองมีรุต เริ่มก่อการกบถ   จากนั้นก็ขยายออกไปสู่วงกว้าง  และในที่สุดก็มีประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากเข้าร่วมกับทหารซีปอยด้วย


(ภาพพิมพ์จากไม้ แสดงฉากสงครามของซีปอยที่เมืองมีรุต-ภาพจากวิกิพีเดีย)

กระนั้น  ก็ยังมีชาวอินเดียจำนวนมากที่ยังคงช่วยเหลือบริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด  ในการต่อสู้กับเพื่อนร่วมชาติชาวอินเดียเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก 


(เซอร์ เจมส์ แลงแคสเตอร์ ผู้บัญชาการคนแรกของกองเรือของบริษัท อีสต์ อินเดีย ที่เดินทางไปยังอินเดียในปี 1601 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ผมจะพูดถึงเรื่องนี้ในโอกาสต่อๆไป

บริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ   คือตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1857  จนถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 1858 กว่าจะปราบปรามการก่อการกบถให้สงบลงได้  ซึ่งทำให้ บริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด ต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมหาศาล  และสูญเสียเงินทองที่สะสมไว้จำนวนมาก


(ตราสัญลักษณ์ของบริษัท อีสต์ อินเดีย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

บริษัท อีสต์ อินเดีย จำกัด คงคิดไตร่ตรองเป็นอย่างดีแล้วมีความเห็นว่า   ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะดับไฟแห่งความไม่พอใจของบรรดาทหารที่ก่อการกบถลงได้   นอกจากการประกาศอภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ก่อการกบถทั้งหมด  ยกเว้น  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตรกรรมชาวอังกฤษเท่านั้น

และเพื่อที่จะหารายได้มาชดเชยค่าใช้จ่ายในการทำสงครามครั้งนี้  อีสต์ อินเดีย ก็โยนภาระ และ  ความผิดไปให้แก่ประชาชนชาวอินเดีย  ด้วยการประกาศขึ้นภาษีต่างๆ  และเริ่มระบบเก็บภาษีรายได้จากชาวอินเดีย ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 1860   ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวอินเดียที่ลำบากอยู่แล้ว  ยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ว่า  กบถซีปอย ปี 1857 จะไม่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มบริษัท อีสต์ อินเดีย   แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงให้เห็นว่า   ชาวอินเดียไม่พอใจต่อบริษัท อีสต์ อินเดีย  ที่ทำงานในฐานะองค์กรที่ได้รับอำนาจสูงสุดจากราชวงศ์อังกฤษ

และถือเป็นก้าวสำคัญของการไปสู่การประกาศอิสรภาพของอินเดียในเวลาต่อมา

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .