ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน15)

ซอกซอนตะลอนไป                           (23 มิถุนายน 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน15)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

สถานการณ์สงครามกลางเมืองของประเทศจีนระหว่างกองทัพรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ที่นำโดย เจียง ไค เช็ค กับ กองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่นำโดย เหมา เจอ ตง เริ่มจะงวดเข้ามาทุกที   โดยที่กองทัพของฝ่ายกั๊ว มิน ตั๋ง เป็นฝ่ายพ่ายแพ้จนต้องถอยลงไปทางใต้

ในที่สุด  วันที่ 7 ธันวาคม ปี 1949  เจียง ไค เช็ค พร้อมด้วยทหารและเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 2 ล้านคนก็ต้องอพยพออกจากแผ่นดินใหญ่จีนไปยังเกาะไต้หวัน  ด้วยความหวังว่า  วันหนึ่งจะหวนคืนกลับมายึดแผ่นดินจีนกลับคืนจากพรรคคอมมิวนิสต์


(พิพิทภัณฑ์ NATIONAL PALACE MUSEUM – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่ที่น่าสนใจก็คือ   การอพยพออกจากแผ่นดินใหญ่จีนซึ่งมีการวางแผนมาก่อน  ได้ขนเอาทองคำ และ วัตถุโบราณล้ำค่าของประเทศจีนไปด้วยจำนวนมหาศาล  วัตถุโบราณซึ่งส่วนใหญ่ขนออกมากจากพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง ปัจจุบันนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์ NATIONAL PALACE MUSEUM ในกรุงไทเป

แต่ดูเหมือนว่า  รัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง จะใช้ทองคำที่ขนมาหมดไปกว่า 80 เปอร์เซนต์หลังจากอพยพออกจากประเทศจีนได้เพียง 2 ปี

เชื่อกันว่า   ทองคำดังกล่าวจำนวนกว่า 800,000 ตำลึงจีนถูกนำไปใช้ในการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน และ ออกธนบัตรใหม่เพื่อใช้แทนธนบัตรเก่า ในอัตรา 1 ต่อ 40,000  และ เรียกสกุลเงินใหม่ว่า NT ซึ่งย่อมาจากคำว่า NEW TAIWANESE DOLLAR


(เจียง ไค เช็ค และ เจียง จิง กั๋ว บุตรชายของเขา-ภาพจากวิกิพีเดีย)

หลังจากเจียง ไค เช็ค อพยพเข้ามาตั้งฐานที่มั่นบนเกาะไต้หวัน  เขาก็เริ่มใช้กฎอัยการศึกอีกครั้ง หลังจากที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้  และครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน 38 ปีที่ถูกยกเลิกในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1987 ในสมัยของประธานาธิบดี เจียง จิง กั๋ว ลูกชายของ เจียง ไค เช็ค

ประธานาธิบดีสามคนแรกของไต้หวันเป็นคนในตระกูลเจียง 2 คน และ เยน เชีย คาน ที่เข้ามาขั่นกลาง  ทั้งสามคนล้วนเกิดและเติบโตในประเทศจีน 

คนที่ 4 ก็คือ หลี่ เติง หุย ซึ่งเกิดในไต้หวันในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครอง  เขามีชื่อเป็นญี่ปุ่นเขียนด้วยภาษาคันจิว่า  岩里政男  แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่นัก  พี่ชายของเขามีชื่อญี่ปุ่นคือ  อิวาซาโต ทาเคโนริ

อาจเป็นเพราะบิดาของเขาทำงานแป็นตำรวจของญี่ปุ่นมาก่อนในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองไต้หวัน  เขาจึงมีความคิดฝักใฝ่ และ หลงไหลในความเป็นญี่ปุ่นมาก


(หลี่ เติ้ง ฮุย (คนขาว) กับพี่ชายของเขาในชุดทหารญี่ปุ่น-ภาพจาวิกิพีเดีย)

หลังจากจบชั้นมัธยมปลายในไต้หวัน  เขาได้รับทุนให้ไปศึกษาในมหาวิทยาลัย เกียวโต อิมพีเรียล ซึ่งเป็นโรงเรียนญี่ปุ่นในไต้หวันปี 1944 แม้จะยังไม่จบการศึกษา  เขาก็สมัครเข้าเป็นทหารของกองทัพญี่ปุ่น และได้รับยศร้อยตรี  ทำหน้าที่ผู้บัญชาการปืนต่อสู้อากาศยานในกรุงไทเป

เขาถูกส่งตัวไปญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ปี 1945  เพื่อช่วยดูแลทำความสะอาด และ  ฟื้นฟูกรุงโตเกียว  หลังจากที่โตเกียวถูกถล่มด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพพันธมิตร  หลังจากนั้นไม่กี่เดือน   ญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้สงคราม


(หลี่ เติ้ง ฮุย -ภาพจากวิกิพีเดีย)

หลี่ เติ้ง ฮุย จึงกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเกียวโต  และ จบการศึกษาในปีต่อมา

เดือนกันยายน ปี1946 หลี่ เติ้ง ฮุย สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน  แต่ไม่นานก็ลาออก  เขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อีกครั้ง  แล้วก็ลาออกอีกจนได้

หลี่ เติ้ง ฮุย ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของไต้หวันในเวลาต่อมา   ถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เกิดบนเกาะไต้หวัน  และ ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยในเวลาต่อมา  

แต่มีนักวิชาการบางคนให้ฉายาเขาว่า  เป็นสุดยอดคนกลอกกลิ้งคนหนึ่ง 

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .