ซอกซอนตะลอนไป (16 มิถุนายน 2567)
ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน14)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เป็นที่น่าสงสัยมากว่า เฉิน ยี่ ผู้ว่าการแห่งไต้หวัน เข้ามาปกครองเกาะได้เพียงแค่ 17 เดือนเท่านั้น ทำไมจึงสามารถสร้างปัญหาความไม่พอใจของประชาชนได้มากจนถึงขั้นก่อการจลาจลรุนแรงขนาดนี้
ทั้งๆที่ จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งนี้ก็คือ ประเด็นการผูกขาดการค้าของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งมิใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวไต้หวันเลย เพราะในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นปกครองไต้หวันอยู่นาน 50 ปี ก็ผูกขาดการค้าหลายอย่างเช่นเดียวกัน แต่ทำไมชาวไต้หวันจึงไม่ก่อการลุกฮือ
หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่า การจลาจลครั้งนี้เป็นการแทรกแซงจากประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นชาติมหาอำนาจ เช่น อเมริกา ยุโรป หรือ แม้กระทั่งญี่ปุ่นเอง เพราะในช่วงนั้น การใช้สายลับในการทำงานใต้ดินเพื่อก่อกวน หรือ สนับสนุนการสร้างม็อบ เป็นเรื่องที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง
ญี่ปุ่นเองก็เลือกสายลับสาวสวยที่ใครๆก็คิดว่าเธอเป็นคนจีน แต่สุดท้ายก็รู้ว่าเธอมีเชื้อสายญี่ปุ่นเข้ามาทำงานจารกรรม และ เธอก็ทำได้อย่างดีด้วย เธอมีชื่อว่า หลี่ เซี่ยง หลาง หรือ โยชิโกะ ยามางูชิ
จากข้อมูลของเฟซบุ๊ค”เก้ากระบี่เดียวดาย” บอกว่า เธอมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในฐานะนักแสดง และ นักร้องในประเทศจีน จนมีโอกาสเข้าไปทำงานกับบริษัท ชอว์ บราเดอร์ด้วย
เธอมีผลงานเพลงที่ยังตราตรึงในหัวใจของคนฟังเพลงจีนตราบจนทุกวันนี้ก็คือเพลง “เยี่ย หลาย เซียง” 夜来香 ที่แปลว่า “ดอกราตรี” เป็นเพลงที่ไพเราะมากจึงขอเอามาให้ท่านผู้อ่านได้ฟังกันตามลิ้งค์นี้ ซึ่งเป็นเสียงร้องของ เติ้ง ลี่ จวิน
การใช้สายลับในการแทรงแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ยังใช้กันจนทุกวันนี้ ไม่ว่าในประเทศอิหร่านยุคโค่นล้มพระเจ้าชาห์ ปาเลวี เป็นต้น
ดังนั้น การเกิดจลาจลวุ่นวายในไต้หวันเมื่อวันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1947 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เหตุการณ์ 228 น่าจะมีอะไรมากกว่าการออกมาประท้วงด้วยเหตุผลการจับหญิงม่ายขายบุหรี่ไม่เสียภาษี
อย่างไรก็ตาม เดือนมิถุนายน ปี 1948 เฉิน ยี่ ก็ถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งประธานของมณฑลเจ้อเจียง ในประเทศจีน เมืองสำคัญในมณฑลนี้คือ เมืองหางโจว และถือเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลกั๊วมินตั๋ง หลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิง
งานสำคัญของเขาก็คือ บัญชาการการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง
แต่หลังจากนั้นไม่นาน เฉิน ยี่ ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง และถูกส่งตัวกลับไปยังไต้หวัน เพราะทางรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง สืบพบว่า เฉิน ยี่ กำลังวางแผนที่จะยอมจำนนต่อกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์
เขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในปี 1950 ในข้อหาทรยศชาติ
การประกาศกฎอัยการศึกของเฉิน ยี่ ที่มีผลบังคับใช้ยาวนาน 38 ปี นั้น เป็นจุดอ่อน และ เป็นตราบาปอันหนึ่งของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ที่ทำให้ประชาชนไต้หวันจำนวนมากเกลียดชังพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกจับในข้อหาทางการเมือง และถูกส่งไปคุมขังที่เกาะสีเขียว 绿岛小夜曲
คล้ายกับเกาะตะรุเตาของไทย
จนมีคนแต่งเพลงๆหนึ่งขึ้นมาที่มีความไพเราะมาก เพลงพูดถึงนักโทษบนเกาะเขียวที่รำพึงรำพรรณถึงสาวที่เขารัก และเป็นเพลงต้องห้ามของรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ในช่วงประธานาธิบดีตระกูลเจียงบนเกาะไต้หวันที่ไม่อยากให้ประชาชนของตัวเองฟัง ขอเอาลิงค์ของเพลงนี้มาปิดท้ายบทความครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ