ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน13)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 มิถุนายน 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน13)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ด้วยทัศนคติส่วนตัวของ เฉิน ยี่  ชาวไต้หวันจึงตกอยู่ภายใต้เงามืดแห่งความไม่ไว้วางใจ  และ  หวาดกลัว   เพราะระบบตำรวจลับที่เฉิน ยี่ได้จัดตั้งขึ้น  ซึ่งหากพูดให้เห็นภาพก็น่าจะประมาณหน่วย KGB ของรัสเซีย หรือ เกสตาโป ของ นาซีเยอรมัน

ชาวไต้หวัน ได้แต่เก็บความรู้สึกถูกกดดัน  และ ความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้

หลังจากเฉิน ยี่ บริหารไต้หวันอยู่นาน 17 เดือน หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม 1945  ก็เกิดเรื่องจนได้

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 1947  เจ้าหน้าที่สายลับของหน่วยงานผูกขาดของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ติดตาม จับกุม และ ปราบปราม ผู้ที่แอบฝ่าฝืนการผู้ขาดของรัฐฯ  ได้จับกุมและทำร้ายร่างกายหญิงม่ายคนหนึ่งในเมืองไทเป  ด้วยข้อหาว่า เธอแอบนำเข้าและขายบุหรี่ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าผูกขาดของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต  

การทำร้ายร่างกายหญิงม่ายดังกล่าว   ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้เข้ามามุงดูเหมือนการล้อมกรอบ   สายลับคนดังกล่าวรู้สึกไม่ปลอดภัย  จึงได้ใช้ปืนยิงเข้าไปในฝูงชนที่เข้ามาล้อมดู

กระสุนถูกชายคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิต


(เหตุการณ์ 228 ของไต้หวัน ภาพจากวิกิพีเดีย)

วันที่ 28 กุมภาพันธ์  จากความไม่พอใจของประชาชน กลายเป็นการรวมตัวของผู้คนเพื่อเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล  จำนวนผู้ประท้วงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ    เฉิน ยี่ จึงต้องขอกำลังจากคณะปฎิวัติแห่งชาติจากจีนเข้ามาสนับสนุนเพื่อควบคุมสถานการณ์   

ความวุ่นวายเกิดขึ้นตามมา   เกิดการยิงเพื่อหยุดยั้งการเดินขบวนดังกล่าว

ฝูงชนที่ไม่พอใจรัฐบาลบุกเข้าไปยึดสถานีวิทยุแห่งหนึ่งของรัฐ  ทำให้มีข่าวแพร่ออกไปทั่วทั้งเกาะว่า  เกิดการปฎิวัติรัฐประหารขึ้นแล้ว 


(ศาสตราจารย์  และ จิตรกร ตัน เต็ง โป เสียชีวิตใจเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย-ภาพจากวิกิพีเดีย)

รัฐบาลไต้หวัน ทำการปราบปรามด้วยอาวุธอย่างหนัก  ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก  แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่แน่นอน  บ้างก็ว่าประมาณ 18,000 คน ถึง 28,000 คน    แต่การข่าวอีกกระแสบอกว่า  จำนวนน้อยกว่านั้นมาก

มีผู้ถูกจับกุมในระหว่างการประท้วงมากมาย   หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ นาย หลี่ เติ้ง ฮุย  ซึ่งในอีก 41 ปีต่อมาได้ดำรงประธานาธิบดีคนที่ 4 ของไต้หวัน


(หนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกา ตีข่าวนี้  แน่นอนว่าย่อมจะต้องถล่มรัฐบาลของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ผมจะพูดถึง หลี่ เติ้ง ฮุย ในตอนถัดๆไปครับ

ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคง  และ  สุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงมาก  แม้ว่า  รัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง จะเป็นผู้สั่งการและรับผิดชอบในเกาะไต้หวัน  แต่ผู้นำตัวจริงคือ เจียง ไค เช็ค ยังคงติดพันการสู้รบอยู่บนแผ่นดินใหญ่จีน

วันที่ 20 พฤษภาคม ปี 1947  หลังเกิดเหตุความวุ่นวายในไทเป และ  ทั่วเกาะเกือบ 2 เดือน   รัฐบาลไต้หวัน โดย เฉิน ยี่ ก็ประกาศกฎอัยการศึกขึ้นครอบคลุมทั่วทั้งเกาะ  เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่อาจจะปะทุขึ้นมาอีกได้

กฎอัยการศึกนี้ถูกใช้เรื่อยมาจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1987   นับรวมเวลาก็ 38 ปีทีเดียว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .