ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (31 มีนาคม 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะไต้หวันอย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 1895 ตามข้อตกลงสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ  ซึ่งตามสนธิสัญญานี้   ราชวงศ์ชิงต้องสูญเสียดินแดนอีกหลายแห่งให้แก่ญี่ปุ่น    แต่ในบทความนี้  ผมจะพูดถึงเฉพาะเกาะไต้หวันเท่านั้น


(สนธิสัญญา ชิโมโนเซกิ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เพราะญี่ปุ่นเล็งเกาะไต้หวันเอาไว้ในฐานะแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองมาช้านานแล้ว  ตั้งแต่ดัตช์ และ สเปน เข้ามาตั้งอาณานิคม  แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะได้เข้ามายึดครองเกาะไต้หวันอย่างแท้จริง

นอกจากนี้  ราชวงศ์ชิงยังต้องจ่ายเงินค่าปฎิกรณ์สงครามจำนวนมหาศาลให้แก่ญี่ปุ่นด้วย  เช่น  แร่เงินจำนวน 276,000,000  หรือ  240 ล้านทรอยออนซ์  ประมาณ 8600 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 5000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015

ญี่ปุ่นมองเห็นอนาคตของตัวเองว่า  สามารถเป็นมหาอำนาจในภาคใต้ของจีน เรื่อยลงไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตามหลักคิดที่เรียกว่า SOUTHERN EXPANSION DOCTRIN ในยุคอาณาจักรญี่ปุ่น  ซึ่งตรงกันข้ามกับยุคก่อนที่มีหลักคิด NORTHERN EXPANSION DOCTRIN ที่เน้นการขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือไปยังเขตแมนจูเรีย และ ไซบีเรีย

ญี่ปุ่นถือว่า   เกาะไต้หวัน เป็นอาณานิคมแห่งแรกของตนเอง  เป้าหมายในการยึดครองก็คือ  ต้องการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ  การบริการสาธารณะ และ การพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรม


(ภาพวาดแสดงถึงตอนที่ญี่ปุ่นยกทัพเข้ายึดครองเกาะไต้หวัน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ   ญี่ปุ่นต้องการกลืนชาติไต้หวัน  ให้ทั้งเกาะเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น (JAPANIZATION) เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการทางทหารของตนเองในการขยายอำนวจลงไปยังเอเชีย-แปซิฟิค  ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับของ อเล็กซานเดอร์ มหาราชที่ได้กระทำไปเมื่อประมาณ 2 พันปีที่แล้วเรียกว่า  HELENIZATION ที่มีความประสงค์จะให้โลกทั้งใบมีวัฒนธรรมกรีซ

แนวคิดนี้เองที่เป็นพื้นฐานของการก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นค่อยๆจัดการระบบการค้าบนเกาะไต้หวันเสียใหม่ ให้เป็นระบบผูกขาดเพื่อตัวเอง  หลังจากนั้นไม่นาน   การค้าเกลือ  การะบูร   ยาสูบ  เหล้า  น้ำมันเชื้อเพลิง  รวมทั้งฝิ่น  ก็ถูกญี่ปุ่นผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าไปยึดครองไต้หวัน  ญี่ปุ่นได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า  คนไต้หวันจะไม่พอใจในการยึดครองครั้งนี้   จนถึงขั้นกระด้างกระเดื่อง และก่อการลุกฮือขึ้นมาก็ได้

แม้จนกระทั่งในวันที่ทำพิธีรับมอบเกาะไต้หวันนั้น  ญี่ปุ่นเลือกที่จะทำพิธีกันบนเรือรบของตนเอง  เพราะเกรงว่าจะเกิดการต่อต้าน และก่อการไม่สงบขึ้นจนไม่สามารถทำพิธีส่งมอบนี้ได้จนจบหากกระทำพิธีกันบนแผ่นดิน  

ญี่ปุ่นคาดการได้ถูกต้อง   เพราะทันทีที่ส่งมอบเกาะไต้หวันให้ญี่ปุ่นเสร็จสิ้นลง  ก็เกิดขบวนการชาตินิยมจีนเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้ยึดครอง  จากบรรดาข้าราชการจำนวนหนึ่งของจีนได้ตัดสินใจจะร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น  และประกาศให้ไต้หวันเป็น “สาธารณรัฐไต้หวัน” โดยมี ถัง จิง สง(TANG JIND SONG) เป็นประธานาธิบดีคนแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1895


(ถัง จิง สง ประธานาธิบดี 12 วันของสาธารณรัฐฟอร์โมซา-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ทว่า  สาธารณรัฐ ดังกล่าวดำรงอยู่ได้เพียง 12 วันเท่านั้นก็ต้องสลายตัว เพราะ ถัง จิง สง แอบหนีกลับไปแผ่นดินใหญ่จีนเสียก่อน

แต่ชาวจีนผู้ผ่านการต่อสู้กับชาวต่างชาติที่ยึดครองแผ่นดินของตนเองมาเป็นเวลายาวนาน  ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับชาวมองโกลจากราชวงศ์หยวน  และ  ชาวแมนจูจากราชวงศ์ชิง  จึงมีประสบการณ์ในการต่อสู้แบบนี้มาโดยตลอดเวลาหลายร้อยปี

การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มขึ้น

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .