มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน7)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 กุมภาพันธ์ 2567)

มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน7)  

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ประวัติศาสตร์ก่อนอินเดียได้เอกราชระบุว่า  นิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด  เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย  และ  ของโลก


(อาซซาฟ จาห์ ที่ 1 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

การเริ่มต้นของตำแหน่ง นิซาม ที่แปลว่า  ผู้บริหารของอาณาเขต มาจาก อาซซาฟ จาห์ ที่ 1 (ASAF JAH I)  หลังจากที่เขาได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิ ฟาร์รุคห์สิยาร์ ของราชวงศ์โมกุล ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการของที่ราบสูงเดกคาน ในช่วงปี 1700 เศษๆ

จนเมื่อจักรพรรดิออรังเซป สิ้นพระชนม์ในปี 1724  บรรดาโอรสของออรังเซปต่างก็สู้รบเข่นฆ่ากันเพื่อแย่งชิงบัลลังก์  อำนาจของโมกุลจึงเริ่มอ่อนแอลง  ไหนยังจะมีศัตรูที่แข็งแกร่งอย่างนักรบแห่งอาณาจักร มารัทธา เป็นคู่แข่งอีก   ความมั่นคงของราชวงศ์โมกุลก็โยกคลอนอย่างน่าใจหาย


(จักรพรรดิ ออรังเซป ผู้ได้ชื่อว่า  เป็นจักรพรรดิที่โหดเหี้ยมที่สุดคนหนึ่งของโมกุล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่างๆจึงเริ่มแข็งข้อ  กระด้างกระเดื่อง   ไม่ยอมส่งเครื่องบรรณาการมาให้เช่นที่เคยทำ

เช่นเดียวกัน    ผู้สำเร็จราชการแห่งที่ราบสูงเดกคานก็ค่อยๆถอยห่างออกมา  และ  แยกตัวเป็นอิสระออกจากราชวงศ์โมกุลอย่างช้าๆ  กล่าวคือ  นิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด ไม่เคยประกาศตนเป็นเอกราชต่อราชวงศ์โมกุลในช่วงแรกเริ่ม  คงเพราะยังคงเกรงกลัวในอำนาจดั่งเดิมอยู่

จนกระทั่งเมื่อโมกุลหมดอำนาจลงจริงๆ ผู้สำเร็จราชการแห่งที่ราบสูงเดกคานจึงประกาศตนเป็น  นิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด พระองค์แรก มีพระนามว่า นิซาม อาซซาฟ จาห์ ที่ 1 นับตั้งแต่นั้นมา 

จากนิซามคนแรกในปี 1724 เรื่อยมากจนกระทั่งตำแหน่งนิซาม แห่งไฮเดอร์ราบัดถูกยกเลิกไปหลังที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 มีผู้ดำรงตำแหน่งนิซาม 7 คน


(ที่ราบสูงเดกคาน(DECCAN PLATEAU) – ภาพจากกูเกิ้ล)

ด้วยทำเลที่ตั้งของอาณาจักรไฮเดอร์ราบัดที่ถือว่าโชคดีมากๆ  เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามหาศาลใต้ดินอย่างเหลือคณานับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เพชร  ซ้ำยังเป็นเพชรที่มีคุณภาพดียิ่งของโลกอีกด้วย และเป็นที่มาของความมั่งคั่งของนิซามในเวลาต่อมา 

เหมืองเพชรที่ว่านี้ก็คือ  เหมืองโกลคอนดา(GOLCONDA MINES) ซึ่งเป็นเหมืองเพชรแห่งเดียวในโลกยุคศตวรรษที่ 18   

นิซาม ทุกพระองค์ครอบครองความมั่งคั่งเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว   เพราะเพชรทุกเม็ดที่ถูกขุดขึ้นมาได้  ล้วนเป็นสมบัติของนิซามทั้งสิ้น  ประชาชนคนอื่นๆไม่มีสิทธิ์  

ไม่ต่างอะไรจากเหมืองเกลือของยุโรปในช่วงใกล้เคียงกัน  ที่ราชวงศ์ของยุโรปจะผูกขาดการเป็นเจ้าของเหมืองเกลือเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว   เพราะเกลือในยุคนั้น   มีค่าและราคาประหนึ่งทองคำ

จึงมักจะมีการเรียกขาน “เกลือ” ว่า   ทองคำสีขาว

โดยเฉพาะเหมืองเกลือของราชวงศ์ฮับเบิร์ก ของออสเตรีย  ที่ผูกขาดมากเป็นเวลาช้านาน   อาจจะถูกแบ่งย่อยออกไปบ้างไปให้แก่ผู้มีอำนาจจากศาสนจักรโรมันคาธอลิค 

ศาสนจักรที่เป็นเจ้าของเหมืองเกลือในออสเตรียก็คือ  อาร์ค บิช้อปแห่งซาลส์เบิร์ก  ผู้มีอำนาจควบคุม และ  บังคับบัญชาบรรดาพระต่างๆในสังกัดในอาณาเขตควบคุมดูแลของตนเอง  คล้ายๆกับ  เจ้าคณะจังหวัด  เจ้าคณะภาค ของไทยประมาณนั้น  


(อาร์คบิช้อป วูลฟ์ ดีทริช แห่ง ซาลส์เบิร์ก -ภาพจากวิกิพีเดีย)

ความมั่งคั่งร่ำรวยของอาร์ค บิชอป ของซาลส์เบิร์ก ที่มาจากเหมืองเกลือ และผู้ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากก็คือ  อาร์ค บิช้อป วูล์ฟ ดีทริช วอน ไรเทเนา   ที่มีฉายาว่า   เจ้าชายบิช้อป

ด้วยความร่ำรวยแบบไม่บันยะบันยังของพระองค์  ทำให้ความสมถะของการเป็นพระของพระองค์ถูกเย้ายวนด้วยกิเลสอย่างหนัก

พระองค์แอบมีภรรยาลับ  ทั้งๆที่เป็นข้อห้ามของศาสนจักรคาธอลิค จนมีลูกด้วยกันนับสิบคน

ว่าจะเล่าเรื่อง นิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด  ไหงมาถึงเรื่อง อาร์คบิช้อปแห่งซาลส์เบิร์กได้ 

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .