คุ้มครองผู้บริโภคไทยต้องดูอินเดียเป็นตัวอย่าง(ตอน5-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 ธันวาคม 2566)

คุ้มครองผู้บริโภคไทยต้องดูอินเดียเป็นตัวอย่าง(ตอน5-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

อุบัติเหตุรถไฟชนกัน 3 ขบวนเกิดขึ้นในตอนกลางคืนของวันที่ 2 มิถุนายน 2023   หลังจากหน่วยกู้ภัยเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุ   บรรดาผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส  บาดเจ็บน้อย  หรือ ไม่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้าไปที่โรงพยาบาลในรัฐโอดิสสา เพื่อตรวจร่างกายเผื่อว่ามีอาการอะไรร้ายแรง

พี่ชายของเพื่อนผมได้รับการตรวจเช็คร่างกาย และ แพทย์ยืนยันว่า  ไม่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุในครั้งนี้   เขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้

หลังจากนั้น  ระบบคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียก็เริ่มทำงาน


(เช็คสั่งจ่ายผู้โดยสารที่ประสบเหตุในขบวนรถไฟดังกล่าว  จำนวน 50000 รูปี)

วันที่ 6 มิถุนายน 2023  หรือ 4 วันหลังจากเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟ   การรถไฟของอินเดีย ก็ออกเช็คเงินสดสั่งจ่ายผู้ถือ  คือ พี่ชายของเพื่อนผมทันทีเป็นจำนวน 50000 รูปี  หรือเทียบเท่า 25000 บาทโดยประมาณ  

ทั้งๆที่เขาไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆในอุบัติเหตุครั้งนี้เลย

เงินจำนวนนี้   ผมเข้าใจว่า  น่าจะเป็นเงินจากบริษัทประกันที่การรถไฟทำไว้ให้สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วแบบออนไลน์ หรือ  จองแบบมีการยืนยันที่นั่ง

อย่างที่ผมได้พูดไว้ตั้งแต่ต้น  การจองตั๋วรถไฟของอินเดียแบบล่วงหน้า  จะต้องระบุชื่อผู้โดยสารเสมอ  ซึ่งแสดงผลดีในตอนนี้แล้ว 


(ตั๋วรถไฟแบบจองออนไลน์ของอินเดีย  จะมีชื่อผู้โดยสาร เส้นทางเดินทางชัดเจน   แต่ที่น่าสนใจก็คือ  ตัวอักษรบนตั๋วรถไฟใช้ภาษาอังกฤษล้วน  แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการศึกษาที่สูงของชาวอินเดีย)

หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย   และการรถไฟฯสามารถจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้โดยสารในปีถัดไปได้ก็ถือว่าเก่งสุดๆแล้ว

นี่ยังไม่พูดถึงระบบการจองตั๋วรถไฟที่เพิ่งจะประกาศออกมาในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่มีระเบียบข้อบังคับในการจองตั๋วที่ค่อนข้างจะเสียสติเอามากๆแล้วละก้อ   ยิ่งทำให้มองไม่เห็นอนาคตของการรถไฟไทยจริงๆ

แค่เรื่องการรับจองตั๋วล่วงหน้า   การรถไฟยังคิดระบบที่จะป้องกันการจองตั๋วเพื่อเอาไปขายต่อไม่ได้  เรื่องอื่นก็คงไม่ต้องพูดถึง   ไม่ต้องพูดถึงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่จะต้องมีการชดเชยผู้โดยสาร  เพราะตั๋วไม่ได้ระบุชื่อ  และยังเป็นช่องทางให้เกิดการคอรัปชั่นในการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้โดยสารอีกด้วย  

เงิน 50000 รูปีที่จ่ายชดเชยให้ผู้โดยสารนั้น   เป็นของบริษัทรถไฟ   แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน  พี่ชายของเพื่อนผมก็ได้รับเงินชดเชยอีกก้อนหนึ่ง   คราวนี้เป็นเงินของรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเบงกอลตะวันตกในส่วนของกระทรวงคุ้มครองผู้บริโภค 

เงินชดเชยก้อนนี้มีจำนวน 20000 รูปี จ่ายให้แก่ผู้โดยสารทุกคนที่ประสบภัยในครั้งนี้   ซึ่งแยกเป็นคนละส่วนกับเงินชดเชยของการรถไฟ

สรุปแล้ว   ผู้โดยสารที่เดินทางในขบวนรถไฟที่ประสบอุบัติเหตุจะได้รับเงินชดเชยรวมกันทั้งสิ้น 70000 รูปีเป็นอย่างต่ำ

มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดีย สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคของไทย   ท่านผู้อ่านคงจะตอบได้นะครับ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางกับผมในการเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน ระหว่างวันที่ 7-16 กุมภาพันธ์ 2567  ซึ่งเป็นกรุ๊ปสุดท้ายของฤดูกาลท่องเที่ยวนี้ของอียิปต์  ติดต่อสอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498  ปิดกรุ๊ปวันที่ 7 มกราคม 2567

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .