ซอกซอนตะลอนไป (19 พฤศจิกายน 2566)
คุ้มครองผู้บริโภคไทยต้องดูอินเดียเป็นตัวอย่าง(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ไม่ว่าทนายความของบริษัท SUNFEAST ในร่มของบริษัท ITC จะแก้ต่างไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นข้อแก้ตัวว่า บริษัทขายตามน้ำหนัก น้ำหนักก็ไม่ครบตามที่ขออนุญาต หรือ หากจะแก้ต่างว่า ขายตามจำนวนชิ้น ก็ไม่ครบตามจำนวนชิ้นที่ระบุ 16 ชิ้นอยู่ดี
ผมหลับตานึกภาพว่า หากเป็นประเทศไทย ก็คงจะมีการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมให้ผู้ฟ้องยอมความและรับค่าชดเชยการเสียความรู้สึกไปเป็นขนมสัก 100 -200 ถุงแค่นั้นก็คงจบ
แต่นี่คือประเทศอินเดีย ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ดิลลีบาบู อธิบายว่าขนมคุ๊กกี้ของซันฟีสต์ที่พิมพ์ไว้บนถุงว่ามี 16 ชิ้น ขายในราคาถุงละ 12 รูปี ดังนั้น ขนมคุ๊กกี้แต่ละชิ้นจะมีค่าเท่ากับ 75 ไพเส (PAISE) หรือ 75 เซนต์ โดยมาตราเงินของอินเดีย 100 ไพเส จะเท่ากับ 1 รูปี
เธอให้ข้อมูลว่า โรงงาน ITC ผลิตขนมคุ๊กกี้ประมาณ 5 ล้านถุงต่อวัน(50 LAKH) เท่ากับว่าโรงงานของ ITC ได้ฉ้อโกงใส่ขนมคุ๊กกี้ขาดไป 50 ล้านชิ้นต่อวัน
หากคิดราคาของขนมคุ๊กกี้ที่ชิ้นละ 75 ไพเส ก็เท่ากับว่า โรงงานของ ITC เจตนาฉ้อโกงผู้บริโภคไปเป็นเงิน 2,900,000 รูปี(สองล้านเก้าแสนรูปี) ต่อวัน
เห็นภาพชัดเจนเลย
เมื่อศาลได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งสองฝ่าย ก็เตรียมที่จะพิจารณาตัดสินคดีว่าบริษัท ITC มีความผิดหรือไม่ อย่างไร และหากมีความผิด ศาลจะตัดสินลงโทษสถานใด
หรือจะ “รอลงอาญา” แบบที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในระหว่างที่รอ เรามาดูว่า บริษัท ITC ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ใหญ่พอที่จะใช้เส้นสายวิ่งเต้นคดีเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่
ข้อมูลที่เปิดเผยระบุว่า บริษัท ITC มีมูลค่าทางการตลาดมากถึง 5.04 พันล้านรูปี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศอินเดีย และในส่วนของการเป็นผู้ผลิตสินค้าขบเคี้ยว บริษัทมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 5.03 พันล้านรูปี เป็นอันดับที่ 8 ของสินค้าประเภทนี้ของอินเดีย
บริษัทส่งออกสินค้าของตัวเองไปสู่ตลาดโลกกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และมีผลกำไรจากการประกอบการในปี 2023 มากกว่าปีที่แล้วถึง 22 เปอร์เซนต์ ปัจจุบัน มีนายซานจีฟ ปูรี (SANJIP PURI) เป็นประธานบริษัท และ เป็นกรรมการผู้จัดการด้วย
วันที่ 29 สิงหาคม 2023 ศาลคุ้มครองผู้บริโภค ออกคำตัดสินให้บริษัท ITC ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ดิลลีบาบู เป็นจำนวน 100,000 รูปี(หนึ่งแสนรูปี) โทษฐานที่ทำการค้าเอาเปรียบ หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ที่คาดไม่ถึงก็คือ ศาลยังสั่งห้ามบริษัทผลิตสินค้าชนิดนี้ออกมาจำหน่ายอีกด้วย
ทำให้ผมคิดถึง สบู่ยี่ห้อหนึ่งที่ผมใช้ประจำที่โฆษณาว่า 4 แถม 1 ซึ่งเมื่อแกะออกดูก็พบว่า สบู่ที่อยู่ในแพ็คแต่ละก้อนมีขนาดเล็กกว่าขนาดปกติเกือบครึ่ง
ประเทศไทยคงจะต้องรอประมาณชาติหน้าตอนบ่ายๆ ว่าที่จะมีการตัดสินคดีคุ้มครองผู้บริโภคในลักษณะนี้
บริษัท ITC อาจจะเชี่ยวชาญในการผลิตขนมคุ๊กกี้ แต่พลาดท่าจากการพิมพ์ฉลากบนถุงจนทำให้เสียหายยับเยินขนาดนี้
ในสัปดาห์หน้า ผมจะพูดถึงอีกมิติหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียครับ
สนใจร่วมเดินทางแบบเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน กับผม ระหว่างวันที่ 7-16 กุมภาพันธ์ 2567 ติดต่อสอบถามได้โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498 รับจำนวนจำกัด 20 ท่านเท่านั้น ขณะนี้เหลือเพียง 8 ที่นั่งเท่านั้น ปิดกรุ๊ปล่วงหน้า 30 วันก่อนเดินทาง หรือ เมื่อเต็ม
สวัสดีครับ