คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน6-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 สิงหาคม 2566)

คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน6-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

เนห์รู ชอบแนวคิดของ นายจักกราวาร์ตี ราชาโกปาลาชารี ที่เสนอให้การส่งมอบอิสรภาพจากอังกฤษมาสู่อินเดีย เป็นการส่งมอบ เซงกอล คฑาแห่งความชอบธรรม มาสู่มือ เนห์รู

นำไปสู่การสร้างคฑา เซงกอล ขึ้นมาเพื่อใช้ในพิธีส่งมอบอำนาจคืนให้แก่อินเดีย


(นายวุมมิดิ เอธิราจู ในวันนี้(ปี 2023) ขณะมีอายุ 96 ปี ยังแข็งแรงและมีความจำที่ดี- ภาพจากSANSAD TV)

หลังจากผ่านหลายขั้นตอนการติดต่อ   นายช่างผู้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สร้างสรรงานครั้งนี้จากการออกแบบของผู้นำของนักบวชไศวนิกาย(SHAIVITES) ผู้มีญาณพิเศษในรัฐทมิลนาดู ก็คือนายวุมมิดิ เอธิราจู (VUMMIDI ETHIRAJU) จากตระกูลเชตติ(CHETTY) ซึ่งเป็นตระกูลที่มีฝีมือในการทำเครื่องประดับและอัญมณีของรัฐทมิล นาดู

ปี 1947  นายวุมมิดิ เอธิราจู  ทำงานอยู่ในร้านอัญมณีชื่อดังที่สุดในเมืองมัดดราส  หรือ  เมืองเชนไน ในปัจจุบันนี้  ขณะนั้น  เขามีอายุ 20 ปี

รูปแบบของคฑาที่ได้รับการออกแบบโดยผู้นำนักบวชนั้นเอาแบบมาจาก คฑาของพระศิวะ ที่ปรากฎบนผนังของวิหารหลายแห่ง  เพียงแต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานในยุคปัจจุบัน


(ภาพสลักของพระศิวะ  จะเห็นคฑาที่อยู่ด้านขวามือของภาพที่ถูกนำมาถอดแบบเพื่อสร้างเป็นคฑา เซนกอล)

หลักสำคัญก็คือ  บนยอดของคฑาจะปรากฎโคนนทิ(NANDI) ซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะนอนหมอบอยู่   ตำนานกล่าวว่า  โคนนทิเป็นวัวเผือกเพศผู้ที่มีลักษณะดี   ดังนั้น  ทุกวิหารที่สร้างอุทิศถวายแด่พระศิวะ  จะต้องมีรูปสลักของวัวนนทิ นอนหมอบอยู่ในห้องโถงที่ตั้งอยู่หน้าประตูของครรภคฤห์ หรือ ห้องที่ประทับของพระศิวะ


(บนยอดคฑาเซนกอล มีโคนันทิ พาหนะของพระศิวะนอนหมอบอยู่)

คฑาเซนกอลดังกล่าว  สร้างด้วยโลหะเงิน ปิดด้วยแผ่นทองคำ   มีความยาว 5 ฟิต หรือ 150 เซนติเมตรโดยประมาณ  ถูกส่งมอบให้แก่ เนห์รู ในวันที่ 14 สิงหาคม ปี 1947 โดยนักบวชจากอารามอะดีนาม(ADHEENAM MONASTERY) เป็นสัญลักษณ์ของการรับมอบอำนาจคืนจากอังกฤษ

โดยไม่มีพิธีรับคฑาจาก ลอร์ด เมาท์แทตเทน อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

หลังจากจบพิธีรับคฑาในปี 1947 แล้ว  คฑาดังกล่าวหายไปจากความทรงจำของชาวอินเดียตลอดระยะเวลา 76 ปี   ไม่มีใครรู้ว่าคฑาอยู่ที่ไหน  และไม่มีใครใส่ใจที่จะรับรู้ด้วยซ้ำ   จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี มีดำริว่าจะเอาคฑา เซนกอลที่ว่านี้มาเป็นหลักชัยสำคัญในการเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 

การตามหาของหายจึงเป็นข่าวไปทั่วอินเดีย  จนกระทั่งพบว่า  คฑาเซนกอล ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิฑภัณฑ์อัลลาฮาบาด(ALLAHABAD MUSEUM) โดยมีป้ายเขียนอธิบายไว้อย่างไม่ให้ราคาว่า 

“ไม้เท้าทองคำที่เป็นของขวัญมอบให้แก่ บัณฑิต เจาวะหะร์ลาล เนห์รู”

มีเสียงโต้แย้งการที่นายนเรนทรา โมดี จะทำหน้าที่เปิดใช้อาคารรัฐสภา และ ใช้คฑาเซนกอลในพิธีดังกล่าว   บ้างบอกว่า  ผู้ทำพิธีน่าจะเป็นประธานาธิบดีมากกว่า   บ้างก็โต้แย้งว่า   เซนกอล เป็นคฑาแห่งอำนาจ  เป็นตัวแทนของอำนาจแห่งกษัตริย์   แต่อินเดียไม่ได้ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์แล้ว  และ รัฐสภาเป็นสถานที่แห่งประชาธิปไตย   ฯลฯ   


(นายนเรนทรา โมดี ทำพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของอินเดีย ซ้ายมือจะเห็นคฑาเซนกอล)

อย่างไรก็ตาม   วันที่ 28 พฤษภาคม 2023  นายนเรนทรา โมดี ก็ทำพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่  และได้นำเอาคฑาเซนกอล แห่งประวัติศาสตร์มาวางอยู่ข้างที่นั่งของประธานสภา


(อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในกรุงเดลี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน   อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของอินเดียได้รับการสรุปรูปแบบ และ แผนการก่อสร้างในเดือนกันยายน 2019   เดือนกันยายนปีถัดมาคือ 2020  บริษัท ตาต้าโปรเจ็ค(TATA PROJECT , LTD) ชนะประกวดราคาค่าก่อสร้างในวงเงิน 8620 ล้านรูปี หรือประมาณ 4310 ล้านบาท  

ธันวาคม ปีเดียวกันก็มีการวางศิลาฤกษ์

20 พฤษภาคม 2023 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของอินเดียก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งมอบเพื่อทำพิธีเปิดในอีก 8 วันต่อมา

บทความทั้ง 6 ตอนเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการของคฑาต่างๆตั้งแต่ยุคโบราณ  จนถึงยุคปัจจุบันนี้  พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

สนใจเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ กับผม ที่เน้นการบรรยายชมอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม นี้  และทุกเดือน  ติดต่อสอบถาม และ สำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .