คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 สิงหาคม 2566)

คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

อียิปต์โบราณ ติดต่อสัมพันธ์กับกรีซ มาเป็นเวลาช้านานแล้ว  เพราะยุคหนึ่ง  นักรบชาวกรีกจากไมซีเนเคยไปทำงานเป็นทหารรับจ้างให้แก่ฟาโรห์มาก่อน  โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นทองคำ

แน่นอนว่า   ชาวกรีกที่เคยเดินทางไปอียิปต์  เมื่อกลับถึงบ้านเกิดของตนเอง  พวกเขาไม่ได้เอาเพียงค่าจ้างทองคำกลับไปเท่านั้น   หากแต่ได้นำเอาความคิด ทั้งทางด้านวัฒนธรรม  ศิลปะ  สถาปัตยกรรม   ความเชื่อ  และ  แนวคิดทางศาสนากลับไปด้วย


(แผนที่ของอียิปต์ และ ตะวันออกกลางในราว 1000 ปีก่อนคริสตกาล – ภาพจากกูเกิ้ล)

นอกเหนือจากกรีซแล้ว  วัฒนธรรมของอียิปต์ยังเผยแพร่เข้าไปในตะวันออกกลาง  เมโสโปเตเมีย  และดินแดนของซูเมอเรียน  จึงอาจกล่าวได้ว่า  ในอาณาบริเวณรอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกล้วนได้รับอิทธิพลจากอียิปต์ทั้งสิ้น  

ในที่นี้ ผมจะพูดเฉพาะเรื่อง คฑาแห่งอำนาจที่มีอิทธิพลไปยังกรีซเท่านั้น  จะไม่พูดถึงอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมอื่นๆ

ในช่วงเวลานั้นของกรีซ นับตั้งแต่ยุคกลางเรื่อยไปจนถึงยุคคลาสสิคในราวศตวรรษที่ 6  มีการทำรูปสลักของเทพเจ้า  โดยเฉพาะเทพซุส (ZEUS) เช่น ในวิหารแห่งเมืองโอลิมเปีย สถานที่ก่อกำเนิดของกีฬาโอลิมเปียดของกรีซโบราณแล้วกลายมาเป็นกีฬาโอลิมปิคในทุกวันนี้


(รูปสลักที่ทำด้วยทองคำ และ งาช้าง สร้างจากจินตนาการ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

รูปสลักดังกล่าว  นักโบราณคดีได้ทำภาพจำลองขึ้นจากบันทึกโบราณจนกลายมาเป็นรูปสลักที่ทำด้วยทองคำ และ  งาช้างที่เรียกว่า CHRYSELEPHANTINE SCULTURE 

รูปสลักดังกล่าวแสดงให้เห็นเทพซุส นั่งอยู่บนบัลลังค์ มือหนึ่งถือคฑาศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย  เพื่อแสดงถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่จากสวรรค์ 

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง  เปอร์เชียภายใต้ราชวงศ์ อาเคเมนิด (ACHAEMENID DYNASTY) ที่มีความแข็งแกร่ง  ได้ยกทัพไปทำสงครามกับกรีซหลายหนแต่ไม่สามารถยึดครองกรีซได้อย่างเบ็ดเสร็จ  สุดท้ายเปอร์เชี่ยนก็สามารถยึดอียิปต์ได้ในปี 525 ก่อนคริสตกาล

แม้ว่าเปอร์เชียนเลือกที่จะไม่ปกครองอียิปต์แบบเต็มตัว  แต่เลือกที่จะแต่งตั้งกษัตริย์ประเทศราช(SATRAPY) ที่เป็นชาวอียิปต์ให้ปกครองแทนตนเอง  และให้ถือว่ากษัตริย์เปอร์เชียนเป็นเจ้านายของชาวอียิปต์

เปอร์เชียนยึดครองอียิปต์ในทางพฤตินัย และ ทางนิตินัย  แต่ในทางจิตวิญญาณ เปอร์เชียนถูกวัฒนธรรมอียิปต์ครอบงำไปแล้วบางส่วน


(ดาริอุส ผู้ยิ่งยง ถือคฑาแห่งอำนาจในมือ- ภาพจากวิกิพีเดีย)

มีภาพสลักนูนต่ำของกษัตริย์ดาริอุส ที่ 1 หรือ ดาริอุส ผู้ยิ่งยง (DARIUS THE GREAT) นั่งอยู่บนบัลลังค์ถือคฑาอยู่ในมือด้วย


(ภาพของกษัตริย์ ดาริอุส ผู้ยิ่งยงที่ถูกเขียนอยู่บนไหของกรีก จะเห็นว่าถือคฑาอยู่ด้วย – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

เมื่ออเล็กซานเดอร์แห่งมาซิโดเนีย ยึดครองอียิปต์ แล้วพระองค์ก็ยกทัพตามไปทำสงครามกับราชวงศ์อาร์เคเมนิด ของเปอร์เชีย  และสามารถยึดเปอร์เชียเอาไว้ได้ทั้งหมดในสมัยของพระเจ้าดาริอุส ที่ 3 ในปี 331 ก่อนคริสตกาล

ไม่ปรากฎว่า  อเล็กซานเดอร์ จะถือคฑาแห่งอำนาจแต่อย่างใด  แต่สิ่งที่พระองค์ติดตัวไปเสมอก็คือ ดาบสั้น และ กล่อง 1 ใบ  ข้างในกล่องบรรจุจารึกที่เขาชอบ  และ บทกวีมหากาพย์เรื่อง “อีเลียด” (ILIAD)

ว่ากันว่า   พระองค์ปฎิเสธที่จะสวมมงกุฎที่เปอร์เชี่ยนถวายหลังจากพ่ายแพ้สงคราม  อาจเพราะสำนึกของพระองค์ที่ถูกสั่งสอนมาตลอดในเรื่องประชาธิปไตยก็เป็นได้

สำหรับท่านที่ต้องการเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับผม  ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม นี้   สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 0885786666  หรือ  LINE ID – 14092498  ครับ

พบกันสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .