คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (30 กรกฎาคม 2566)

คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

บรรดาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอียิปต์โบราณที่ผมนำเสนอไปในตอนที่แล้ว  สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปอียิปต์มาแล้วก็จะสังเกตเห็นว่า  ส่วนใหญ่จะใช้กับบรรดาเทพเจ้าของอียิปต์

ภาพสลักบนผนังของวิหารในอียิปต์ที่สร้างในยุคอาณาจักรใหม่ ตั้งแต่ 1550 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยลงมาจนถึง 1077 ปีก่อนคริสตกาล   ที่บรรยายการถวายสิ่งของต่างๆของฟาโรห์แด่เทพเจ้า  เช่น  เทพอามุนรา  เทพฮอรัส นั้น  มักจะแสดงภาพของบรรดาเทพเจ้าถือคฑาชนิดต่างๆเท่านั้น


(ฟาโรห์ของราชวงศ์ปโตเลมี (ขวา) กำลังถวายเครื่องสักการะให้แก่เทพี ไอซิส และ เทพีฮาธอร์ ซึ่งทั้งคู่มีคฑาในมือซ้าย ในขณะที่มือขวาจะกำอังค์ห หรือ กุญแจแห่งชีวิตเอาไว้  ในขณะที่ฟาโรห์ไม่ได้ถืออะไรในมือ)

ฟาโรห์ จะไม่ถือคฑา หรือ เครื่องราชฯใดๆเลย   

ทำไม

สันนิษฐานว่า  คฑา รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าเป็นหลัก  แต่บางครั้ง  เครื่องราชอิสริยาภรณ์บางอย่างก็ไปอยู่คู่กับฟาโรห์ได้เหมือนกัน  เพราะแนวคิดของอียิปต์โบราณถือว่า ฟาโรห์คือผู้ที่ถูกส่งลงมาเพื่อปกครองโลกมนุษย์ตามบัญชาของเทพเจ้า  หรือ  พูดให้แคบลงมาอีกหน่อยก็คือ  ฟาโรห์ถูกเทพเจ้าส่งลงมาเพื่อปกครองแผ่นดินอียิปต์


(ภาพการตัดสินครั้งสุดท้ายของอียิปต์โบราณ ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลต่อแนวคิด การตัดสินครั้งสุดท้ายของศาสตร์คริสต์ก็ได้ – ภาพจากกูเกิ้ล)

แนวคิดคล้ายกับ  พระราม ซึ่งเป็นอวตารปางที่ 7 ของพระวิษณุ

ดังนั้น  ฟาโรห์จึงมีสถานะกึ่งเทพ  กึ่งมนุษย์  ที่มีพันธะกับเทพเจ้าตรงที่  หลังจากสิ้นพระชนม์  ฟาโรห์จะต้องไปรายงานผลงานการทำงานในโลกมนุษย์ต่อหน้าเทพเจ้า ซึ่งในที่นี้หมายถึงเทพโอไซริส(OSIRIS) ให้ได้ทราบ   ว่าได้กระทำการที่เป็นคุณประโยนช์ต่อแผ่นดินอียิปต์หรือไม่

ย้ำว่า   เฉพาะแผ่นดินอียิปต์ครับ    ไม่ใช่โลกทั้งโลก

เช่นเดียวกับ อาดัม กับ อีฟ ที่ไม่ใช่บรรพบุรุษของคนทั้งโลก  แต่เป็นเพียงบรรพบุรุษของชาวยิวเท่านั้น


(โลงศพของตุตันคามุน ที่มือทั้งสองถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 2 ชนิด เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า)

และเมื่อฟาโรห์สิ้นพระชนม์   สถานะของพระองค์ก็จะเป็นเสมือนเทพเจ้าไปด้วย  ดังนั้น  มัมมี่ของฟาโรห์ที่มีการค้นพบ  เช่น  มัมมี่ของตุตันคามุน และ ฟาโรห์องค์อื่นๆจึงถูกจัดวางมือทั้งสองให้ทับกัน  และจะวางเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2 ชิ้นสำคัญ คือ  ตะขอ และ แส้ อยู่บนอกของมัมมี่

จนกลายเป็นรูปลักษณ์สำคัญของการทำมัมมี ที่จะต้องเอาท่อนแขนทั้งสองมาวางทับกันบนหน้าอก  ควบคู่ไปกับเครื่องราชฯดังกล่าว

ต่อมา  ในช่วงปลายของอียิปต์โบราณที่เรียกว่า LATE PERIOD คือช่วง 300 ปีของราชวงศ์ปโตเลมี (PTOLEMY DYNASTY) การนำเอาเครื่องราชฯมาใช้บรรยายเหตุการณ์บนผนังในวิหารก็เปลี่ยนแปลงไป

เครื่องราชฯสองชนิดที่ถูกนำมาใช้มากก็คือ อังค์ห  หรือ  กุญแจแห่งชีวิต   กับ  วาส หรือ  สัญลักษณ์แห่งความมั่นคง  แต่นำมาใช้ในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


(ภาพบนผนังจะเห็นเทพธอท(ซ้าย) และ เทพฮอรัส(ขวา) กำลังรดน้ำจากโถให้แก่ฟาโรห์ปโตเลมี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างร่างกายก่อนจะเข้าไปในวิหาร แต่สิ่งที่ไหลออกมาจากโถกลับเป็นอังค์ห และ วาส)

หลายวิหารที่เป็นศิลปะแบบเกรโกโรมัน  จะมีรูปสลักของเทพ 2 องค์ คือ เทพฮอรัส และ เทพธอร์ท  กำลังทำท่าทางเหมือนกำลังทำพิธีทำความสะอาดร่างกาย(PURIFY)ให้แก่ฟาโรห์ปโตเลมี  ทว่า  สิ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดกลับไม่ใช่น้ำ 

หากแต่เป็น  สัญลักษณ์อังค์ห และ สัญลักษณ์วาส 

เป็นไปได้ว่า  แนวคิดนี้อาจจะมีอิทธิพล หรือ เชื่อมโยงกับการทำพิธีแบ็ปไทส์ ของพระเยซูก็เป็นได้

ท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับผม  ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคมนี้  สอบถามข้อมูลและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .