ซอกซอนตะลอนไป (14 พฤษภาคม 2566)
พระอาทิตย์ตกของตระกูลคานธี(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในปีค.ศ. 2019 อินเดียมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์(LOK SABHA)จากทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวน 543 คน
เป็นการต่อสู้กันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคของอินเดีย พรรคแรกก็คือพรรคภารติยะ ชนะตะ(BJP) นำโดยนายนเรนทรา โมดี(NARENTRA MODI) ซึ่งชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งก่อนของปีค.ศ. 2014 กับพรรคอินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส(INC) ที่นำโดย นางโซเนีย คานธี
การเลือกตั้งครั้งปีค.ศ. 2014 เป็นชัยชนะของพรรค BJP ที่สามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้มากถึง 282 คน จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 534 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคคองเกรสได้รับเลือกเข้ามาเพียง 59 ที่นั่งเท่านั้น
ทั้งๆที่ นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกของอินเดียในปีค.ศ. 1951-1952 พรรคคองเกรส ครองเสียส่วนใหญ่ของสภามาแทบจะตลอด
หลังจากความพ่ายแพ้ในปี 2014 นางโซเนีย คานธีก็วางมือให้ ราหุล ลูกชายขึ้นมาสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคองเกรสแทน โดยมีภาระในการเป็นหัวหอกในการต่อสู้ทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปของปี 2019 ซึ่งเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของพรรค
นายราหุล คานธี เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขนักการเมืองจากตระกูลคานธี เขาเป็นลูกของ ราจีฟ คานธี กับ โซเนีย ซึ่งมีเชื้อสายอิตาเลี่ยน , ราจีฟ คานธี เป็นลูกของนางอินทิรา คานธี ราจีฟจึงมีศักดิ์เป็นหลานตาของนาย เยาวะหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
การเลือกตั้งของปี 2019 เป็นภาระขนาดใหญ่ที่ถูกโยนลงบนบ่าของราหุล เพราะคะแนนนิยมของ นเรนทรา โมดี กำลังพุ่งแรง ด้วยเพราะนโยบายเชิดชูแนวคิดชาวฮินดูของเขา ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของพรรคคองเกรส ที่สนับสนุนชาวมุสลิมเป็นหลัก
แนวคิดนี้ เริ่มมาแต่สมัยของ นายเยาวะหะราล เนห์รู และ มหาตะมะ คานธี ในยุคที่ยังเป็นกลุ่ม อินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส ที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษก่อนหน้าปีค.ศ. 1947 แล้ว
การต่อสู้รณรงค์เพื่อการเลือกตั้งทั่วไป สำหรับคนหนุ่มที่ไม่ยังไม่มีประสบการณ์ และ เขี้ยวเล็บที่แกร่งพออย่างนายราหุลนั้น เป็นเรื่องไม่ง่าย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ปีค.ศ. 1984 นางอินทิรา คานธี ย่าของเขา และ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถูกทหารรักษาความปลอดภัยชาวซิกห์ 2 คนสังหาร ว่ากันว่า เพื่อแก้แค้นในภารกิจของนางที่เรียกว่า ปฎิบัติการณ์ดาวสีน้ำเงิน(OPERATION BLUE STAR) ในการโจมตีวิหารทองคำ ในเมืองอัมริตสาร์ รัฐปัญจาบ
ราจีฟ คานธี จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในทันที
หลังจากนั้น วันที่ 21 พฤษภาคมปีค.ศ. 1991 ในขณะที่นายราจีฟ คานธี กำลังออกหาเสียงช่วยเหลือผู้สมัครของพรรคคองเกรสในรัฐทมิล นาดู ที่หมู่บ้าน ศรีเพอรุมบูเดอร์ ไม่ไกลจากเมืองมัดดาส(MADRAS) หรือ เชนไน(CHENNAI) ในปัจจุบันเท่าไหร่นัก
เขาถูกระเบิดพลีชีพของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำทีจะเข้ามาทักทาย แล้วกดระเบิด ทำให้ ราจีฟ คานธี เสียชีวิตในทันที
วันแห่งการสูญเสียวันนั้น ราหูล คานธีมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น ถือว่ายังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมืองมาก
เหตุการณ์ของตระกูลคานธีจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป