ซอกซอนตะลอนไป (2 เมษายน 2566)
บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 6)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ภาพยนตร์เรื่อง DANGAL ที่แปลว่า มวยปล้ำ กระตุ้นให้ผมอยากมาดูการฝึกซ้อมมวยปล้ำของอินเดียในสถานที่จริง ซึ่งสถานที่หนึ่งที่สามารถหาได้ก็คือ ในเมืองกอลกัตตา
แล้วผมก็มาถึงสนามฝึกซ้อมมวยปล้ำแบบโบราณของอินเดีย ภาษาทั่วไปเรียกว่า มวยปล้ำโคลน(MUD WRESTLING) ทว่า ภาษาสันสกฤตเรียกว่า มัลลา ยุทธา(MALLA-YUDDHA) ซึ่งหมายถึง มวยปล้ำแบบดั่งเดิมที่มีกำเนิดในอินเดีย ปรากฎอยู่ในบันทึกมัลลา ปุราณะ (MALLA PURANA) ที่เขียนในราวศตวรรษที่ 13
เป็นกีฬาที่เน้นการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง และ ใช้เพื่อต่อสู้ป้องกันตัวแบบประชิด
ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่โบราณกาลที่อินเดียถูกข้าศึกศัตรูชาวมุสลิมจากแถบเปอร์เชีย อัฟกานิสถาน หรือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียรุกรานเข้ามา เริ่มตั้งแต่โมฮัมหมัด คาซิม(MOHAMMAD QASIM) ในศตวรรษที่ 7 เรื่อยมาจนถึง มาห์มุด แห่ง กาสนี่ (MAHMUD OF GHAZNI) และ โมฮัมหมัด กอรี (MOHAMMAD GHORI) ในศตวรรษที่ 12
นักรบเหล่านี้ เดินพาเหรดเข้ามาปล้นทั้งทรัพย์สินต่างๆ ทองคำ เงิน และ อัญมณีมีค่าต่างๆ และจับเอาผู้ชายนับแสนๆคน หรืออาจจะถึงล้านคนไปเป็นทาส และ ขายเป็นทาสด้วย ส่วนผู้หญิงก็ถูกจับไปทั้งเป็นทาสบำเรอกาม และ ขายไปเป็นหญิงโสเภณี
ครั้งแล้วครั้งเล่า และรบชนะชาวอินเดียแทบทุกครั้ง เพราะนักรบเหล่านี้ต่างก็รู้กิตติศัพท์ของนักรบชาวฮินดูเป็นอย่างดีว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรบแบบประชิดตัว
นักรบมุสลิมจึงพยายามหลีกเลี่ยงการรบที่ต้องเข้าปะทะตัวต่อตัว แต่จะใช้ยุทธศาสตร์การรบในระยะห่าง
(ผมจะเขียนถึงนักรบเหล่านี้ในตอนต่อๆไปครับ)
เหตุผลที่นักรบมุสลิมต้องรบแบบนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะชาวอินเดียได้ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่ง และ ฝึกฝนการต่อสู้แบบถึงตัว แบบมวยปล้ำนี้เอง
ลานซ้อมมวยปล้ำ หรือ อาจจะเรียกว่า โรงเรียนสอนวิชามวยปล้ำก็ได้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฮุคห์ลี ลานที่มีขนาดกว้างประมาณ 5 เมตรคูณ 6 เมตร มีรั้วเหล็กล้อมรอบเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปเดินในลานดินดังกล่าว
ด้านหนึ่งจะมีรูปสลักเคลือบด้วยสีส้มเข้ม ก่อนที่นักมวยปล้ำทุกคนจะเริ่มฝึกซ้อม เขาจะต้องเข้าไปทำความเคารพต่อรูปสลักนี้เสียก่อน รูปสลักนี้ก็คือ เทพหนุมาน ตัวละครเอกในมหากาพย์ “รามเกียรติ์” หรือ RAMAYANA ของฮินดู
ชาวฮินดูนับถือว่า หนุมานซึ่งเป็นทหารเอกของพระราม เป็นเทพแห่งพละกำลัง ซึ่งสามารถทำอะไรหลายอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้ อย่างเช่นตอนเหาะไปที่ภูเขาโอชาธิพาร์วาตา(OSHADHIPARVATA) เพื่อค้นหาสมุนไพรที่ชื่อ สัญชีวะนี (SANJEEVANI) แล้วนำกลับมารักษาพระลักษมณ์ที่ต้องหอกโมกศักดิ์อาการปางตาย
ที่สำคัญก็คือ จะต้องได้ยามาช่วยภายใน 1 วัน
หนุมานเหาะไปถึงภูเขา แต่ไม่รู้ว่า สมุนไพรที่ว่านี้มีลักษณะหน้าตาอย่างไร เวลาก็กระชั้นเข้ามาทุกที อย่ากระนั้นเลย หนุมานจึงถอนภูเขาทั้งภูเขากลับมาเพื่อให้หมอยาสมุนไพรเลือกเอาเอง
นอกจากหนุมานจะได้รับการเคารพจากชาวฮินดูในฐานะเทพแห่งพละกกำลัง และ ความซื่อสัตย์แล้ว ยังได้รับการเคารพว่า เป็นเทพเจ้าแห่งการถือพรหมจรรย์ของชายหนุ่ม
ชายหนุ่มคนใดที่เคารพนับถือเทพหนุมาน หากจะแต่งงานในวันใด เขาจะต้องไปกราบเทพหนุมานเพื่อขออภัยที่ต้องละพรหมจรรย์ด้วย ซึ่งบุคลิคในข้อนี้แตกต่างจากหนุมานในภาคภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ