บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 กุมภาพันธ์ 2566)

บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               มีคนไม่มากนักที่จะทราบว่า  เมืองกอลกัตตาครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนกระทั่งปีค.ศ.1911  เมื่ออังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่กรุงเดลี


(แผนที่ของอินเดีย แสดงที่ตั้งของเมืองกอลกัตตา)

               หลังจากอ่านเรื่องราว และ เหตุการณ์การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวเมืองกอลกัตตา และ รัฐเบงกอลตะวันตก  ผมจึงหาโอกาสเดินทางไปตะลอนสำรวจแบบเจาะลึกในรัฐเบงกอลตะวันตก  เพื่อค้นหาคำตอบจากคำถามหลายๆข้อที่ยังค้างคาใจ

               ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17  ดินแดนแถบนี้ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ 3 หมู่บ้าน อยู่ภายใต้การปกครอง นาวาบแห่งเบงกอล (NAWAB OF BENGAL) ผู้ทำหน้าที่ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล ที่ประทับอยู่ที่ กรุงเดลี ปัจจุบันนี้


(เซอร์ โธมัส โร)

               ก่อนหน้านั้น ในปีค.ศ. 1616  เซอร์ โธมัส โร (SIR THOMAS ROE) ในนามของบริษัท อินเดียตะวันออก(EAST INDIA COMPANY) ของอังกฤษได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิจาฮังกีร์(JAHANGIR) ของราชวงศ์โมกุล เพื่อขออนุญาตทำการค้า(แบบผูกขาด) ในเมือง สุรัต(SURAT)ในรัฐกุจารัฐ(GUJARAT) 

               นับเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้าถึงจักรพรรดิโมกุลเพื่อเจรจาขอสิทธิทางการค้าในอินเดีย  เพราะในช่วงนั้น  ก็มีชาติอื่นๆเช่น โปรตุเกส  และ  ดัตช์  เดินทางเข้ามาค้าขายกับอินเดียแล้วเช่นกัน


(เซอร์ โธมัส โร ขณะเข้าเฝ้าจักรพรรดิ จาฮังกีร์ แห่งราชวงศ์โมกุล จุดเริ่มต้นของการขยายอาณาเขตการค้าของบริษัท อีสต์ อินเดีย)

เนื่องจากจักรพรรดิจาฮังกีร์  ผู้เป็นบิดาของชาห์ จาฮาน ผู้สร้างทัช มาฮัล  เป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ และ ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ของราชวงศ์โมกุล  พระองค์จึงอนุญาตให้บริษัท อีสต์ อินเดีย ดำเนินการได้

ว่ากันว่า  โธมัส โร ได้เอาไวน์แดงติดตัวไปตอนเข้าเฝ้าจาฮังกีร์  และ แนะนำให้จาฮังกีร์ ดื่ม   หลังจากดื่มแล้ว  จาฮังกีร์ ก็ติดอกติดใจเป็นอย่างยิ่ง  ก็จึงว่าอะไรก็ว่าตามกัน

หลังจากนั้น  บริษัท อีสต์ อินเดีย  ก็คืบขยายการค้าของตนเองออกไปยังเมืองอักรา และ อาเมห์ดาบาด (AHMEDABAD)

แล้วขยายต่อไปยังเมือง กอลกัตตา , บอมเบย์ และ มัดราส(MADRAS) หรือ เชนไน ในปัจจุบันนี้

เป็นเล่ห์ร้ายในความพยายามยึดครองอินเดียอย่างเป็นระบบ  ซึ่งผมจะได้เล่าให้ฟังต่อไปครับ


(ตลาดดอกไม้ที่วางเรียงราวไปตามทางเดินที่ทอดยาวขึ้นไปหาสะพานเฮาราห์ เป็นสถานที่ที่น่าใช้เวลาตั้งแต่เช้าไปจนถึงประมาณ 10 โมง)

ผมเริ่มต้นทัวร์กอลกัตตาตั้งแต่เช้า ด้วยการเดินลัดเลาะไปตามถนนเลียบฟุตบาทซึ่งมีตลาดดอกไม้วางขายกับพื้น   ว่ากันว่า  เป็นตลาดขายดอกไม้ที่ยาวที่สุดในโลก  คือมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ  เริ่มจากถนนที่นำไปขึ้นสะพานเฮาราห์ แล้ววกลงไปสู่พื้นที่ริมแม่น้ำใต้สะพาน

สะพานเฮาราห์(HOWRAH BRIDGE) เป็นสะพานเหล็กเก่าแก่ที่อังกฤษสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1943 ก่อนหน้าที่อินเดียจะได้รับอิสรภาพเพียง 4 ปีเท่านั้น  เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำฮุคห์ลี(HOOGHLY RIVER) อันเป็นแม่น้ำสำคัญ และ เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวเบงกอล   เพราะแม่น้ำนี้เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา ที่ไหลไปลงทะเลที่อ่าวเบงกอล  มหาสมุทรอินเดีย


(สะพานเฮาราห์ ซึ่งเชื่อมผั่งเฮาราห์ กับ ฝั่งกอลกัตตา)

สะพานเฮาราห์ จึงมีความสำคัญต่อเมืองกอลกัตตาเป็นอย่างมาก  เพราะทำหน้าที่เชื่อมฝั่งเมืองกอลกัตตา กับ เมือง เฮาราห์ เข้าด้วยกัน  ทุกวันนี้  มีผู้คนใช้สะพานเฮาราห์ในการสัญจรกว่าล้านคนต่อวัน

ผม และเพื่อนอินเดียของผมเดินไปตามถนน  ที่มีดอกไม้วางขายเรียงรายไปตลอด   ส่วนใหญ่มักจะเป็นดอกไม้ที่ใช้ในการบูชาเพื่อถวายแด่เทพเจ้าทั้งสิ้น

สัปดาห์หน้า  เราจะมาเดินชมตลอดดอกไม้กันต่อครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .