ซอกซอนตะลอนไป (22 มกราคม 2566)
สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เป็นเคราะห์กรรมของผู้หญิงชาวอินเดียในยุคโบราณบางคน ที่ต้องประสบกับชะตากรรมจากประเพณีสินสอดมรณะนี้ จนกระทั่ง ปีค.ศ. 1956
เพราะก่อนหน้าปี ค.ศ. 1956 ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียผู้ภายใต้การปกครองของอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ ที่เรียกกันว่า BRITISH RAJ นั้น สตรีชาวอินเดียไม่มีสิทธิในการรับมรดกจากบิดาที่เสียชีวิตไปแม้แต่รูปีเดียว
ไม่ว่าบิดาของเธอจะมีฐานะร่ำรวยขนาดไหนก็ตาม
อาจเพราะเหตุนี้ ที่ทำให้ฝ่ายชายที่เป็นผู้ได้รับสินสอดจากฝ่ายหญิงมองว่า หากบิดาของภรรยามีฐานะร่ำรวย แต่หลังจากแต่งงานออกจากบ้านเดิมแล้ว เธอจะขาดจากการเป็นผู้รับมรดกจากบิดาในทันที
แต่หากบิดาของฝ่ายหญิงยังมีชีวิตในช่วงที่ทั้งสองแต่งงานกัน บิดาของฝ่ายหญิงสามารถมอบทรัพย์สินเงินทอง บ้าน ที่ดิน และ ทรัพย์สินอื่นใดให้แก่ลูกสาวของตัวเองนำติดตัวไปยังบ้านสามีได้
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง หรือเป็นที่มาของการจ่ายค่าสินสอดจำนวนมากของฝ่ายหญิงในอินเดีย
แม้ว่า การมอบสินสอดของฝ่ายเจ้าสาว จะมีข้อบังคับบางอย่าง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง หรือ อสังหาริมทรัพย์ต่างๆที่ฝ่ายหญิงนำติดตัวไปบ้านเจ้าบ่าว จะเป็นทรัพย์สินของเจ้าสาวตลอดไป
ฝ่ายเจ้าบ่าว หรือ ครอบครัวของเจ้าบ่าวจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ เป็นเจ้าของร่วมแต่ประการใด
เจ้าสาวที่มีบิดามีฐานะดี บิดาย่อมเป็นห่วงฐานะความเป็นอยู่ และ สถานะทางสังคม ของลูกสาวตนเองที่ต้องจากบ้านไปอยู่กับฝ่ายชาย บิดาจึงมักจะมอบความมั่นคงเอาไว้ให้เธอในจำนวนที่มากพอในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่
เพราะหากเขามีอันเป็นไปเสียก่อน ลูกสาวของเขาจะไม่สามารถรับมรดกใดจากเขาเลย ซึ่งนี่คือประเพณีปฎิบัติของชาวฮินดูในอินเดีย
จนเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1947 รัฐสภาอินเดียได้เล็งเห็นความไม่เป็นธรรมของสภาพสังคมของตัวเอง จึงได้ผ่านร่างกฎหมายมรดกของชาวฮินดูปี 1956 (THE HINDU SUCCESSION ACT , 1956) ซึ่งกำหนดให้สถานภาพของลูกสาว และ ลูกชายมีความเท่าเทียมกัน ทำให้ลูกสาวมีโอกาสที่จะได้รับมรดกจากบิดาของตนเองนับแต่นั้นมา
กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู , ศาสนาซิกห์ และ ศาสนาเชน เท่านั้น รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ชาวมุสลิมในประเทศสามารถใช้กฎหมายชาเรีย หรือ กฎศาสนาของตนเองได้
กระนั้นก็ตาม ปัญหาเรื่องการที่ฝ่ายเจ้าสาวต้องนำเอาทรัพย์สมบัติจำนวนมากเสมือนเป็นสินสอดไปยังบ้านของเจ้าบ่าวก็ยังไม่หมดไป และ ยังก่อให้เกิดปัญหามากมาย
เช่น ครอบครัวของฝ่ายหญิงที่ยากจนอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องการให้ลูกสาวของตนเองถูกครอบครัวฝ่ายชายดูถูกเหยียดหยาม หรือ ปฎิบัติต่อเธอในทางที่มีอคติ ก็อาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อจ่ายสินสอดที่ว่านี้
ในบางกรณีที่ครอบครัวฝ่ายหญิงไม่อาจหาเงินทองมาให้แก่ลูกสาวได้ และไปเจอครอบครัวฝ่ายชายที่มีอคติสูงมาก เธอก็อาจจะถูกครอบครัวฝ่ายชายกดดันในหลายรูปแบบ กลั่นแกล้งต่างๆนานา จนบางรายถูกสมาชิกในครอบครัวสามีร่วมกันทำร้ายจนเสียชีวิต หรือ บางครั้งหญิงสาวอาจจะทนไม่ได้จนต้องฆ่าตัวตาย
แล้วอินเดียจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ติดต่อต่อในสัปดาห์หน้าครับ