สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (15 มกราคม 2566)

สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน2) 

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วัฒนธรรมการเรียกสินสอดจากฝ่ายเจ้าสาวของอินเดีย แบบไร้คุณธรรม และ ไร้เหตุผล ตามที่เราได้ทราบจากข่าว หรือ บันทึกใดๆ  เริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อไม่เกิน 1 พันปีที่แล้ว  

               ดังนั้น  วัฒนธรรมการให้สินสอดของอินเดีย จึงไม่น่าจะเป็นประเพณีของศาสนาฮินดู   เพราะยุคพระเวท(VEDIC PERIOD)ในอยู่ในช่วง 1500 ปี ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล  ซึ่งตอนนั้น  ประเพณีการจ่ายสินสอดของฝ่ายหญิง ยังไม่เป็นที่ปฎิบัติกันในสังคมฮินดู 

               กระนั้นก็ตาม  ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีการมอบสินสอดในยุคพระเวทเช่นกัน   เพียงแต่เป็นการปฎิบัติกันเฉพาะในกลุ่มของชนชั้นสูงบางกลุ่มเท่านั้น   และกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ในประเทศอินเดีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร  และ  เป็นกลุ่มชนที่ด้อยการศึกษาสักหน่อย  

               สินสอดที่ฝ่ายหญิงจะต้องตระเตรียมไปให้บ้านฝ่ายชายก็มีตั้งแต่  ทรัพย์สินเงินทอง  อัญมณีเครื่องเพชรเครื่องทอง  รถยนตร์  เฟอร์นิเจอร์ หรือ  อาจจะรวมถึงบ้านและที่ดินด้วย


(ประเพณีสินสอดของอินเดียที่ฝ่ายหญิงต้องจ่ายให้แก่ผู้ชายไม่เพียงแต่ถือปฎิบัติกันในหมู่ชาวฮินดูเท่านั้น   แต่รวมถึงชาวมุสลิมด้วย ภาพจากวิกิพีเดีย บรรยายว่า  เป็นสินสอดของฝ่ายหญิงที่มอบให้แก่ลูกชายของอิหม่ามที่เดลี)  

               ว่ากันว่า   หากฝ่ายชายมีฐานะการงานดี  เช่นเป็นหมอ  เป็นทหารมียศ  หรือ  มีฐานะดี   สินสอดที่ฝ่ายหญิงจะต้องมอบให้ฝ่ายชายก็จะต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย

               หากฝ่ายหญิงนำทรัพย์สินเงินทองไปบ้านเจ้าบ่าวน้อยเกินไป  จนไม่เป็นที่พอใจของครอบครัวฝ่ายชาย  ก็อาจจะกลายเป็นสาเหตุทำให้สมาชิกของครอบครัวฝ่ายชายแสดงความดูถูกเหยียดหยาม  เกลียดชัง  และ  มีอคติต่อฝ่ายหญิง  จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวในที่สุด 

               บ่อยครั้ง   อคติดังกล่าวสร้างความกดดันอย่างมาก  จนทำให้ฝ่ายหญิงคิดสั้นฆ่าตัวตายไปเลยก็มี


(ภาพเขียนจากปีค.ศ. 1800 ที่แสดงให้เห็นเจ้าสาวที่อยู่ในเต้นท์ พร้อมทั้งสินสอดที่นำมามอบให้ฝ่ายชาย-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               นอกจากนี้   ยังเป็นช่องโหว่ให้เกิดการวางแผนหลอกลวงหญิงสาวเพื่อให้ได้มาซึ่งสินสอดอีกด้วย 

               เรื่องนี้เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อปีค.ศ. 2005  เมื่อมีชายชาวอินเดียคนหนึ่งที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่แคนาดา ได้เดินทางกลับมาที่อินเดียเพื่อหาหญิงสาวแต่งงาน 

               หลังจากได้หญิงสาวที่มีสินสอดจำนวนมากมาแต่งงาน  และอยู่กินกันสักพักหนึ่ง  เขาก็หนีกลับแคนาดา  โดยไม่พาหญิงสาวไปด้วย

               แน่นอนว่า   เขาไม่ลืมที่จะเอาสินสอดจำนวนมากเหล่านี้ติดตัวไปด้วย   เรื่องดังกล่าวถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนมีผู้กล่าวขานถึงมากมาย

               วัฒนธรรมการจ่ายสินสอดของฝ่ายเจ้าสาวมาจากไหน   ผมจะพูดถึงสาเหตุที่เป็นไปได้  ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ  และ ประวัติศาสตร์ไปตามลำดับ

               การเรียกสินสอดราคาแพงๆจากเจ้าสาว  น่าจะมีสาเหตุมาจากเหตุผลเรื่องทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง   และ  เหตุผลในเรื่องระบบการจัดการมรดกของหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิต   


(ประเพณี ฮัลดิ ซึ่งเป็นประเพณีที่มักจะนิยมทำกันก่อนวันแต่งงาน ในหมู่ชาวฮินดูในประเทศอินเดีย- ภาพจาก ALT ALT)

               เหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า  ครอบครัวของฝ่ายเจ้าบ่าวเมื่อแต่งงานกับเจ้าสาวที่มีฐานะดีก็ย่อมอยากจะได้ทรัพย์สินเงินทองของเจ้าสาวมาช่วยจุนเจือครอบครัวฝ่ายตนเอง

               ประกอบกับ  ย้อนหลังก่อนหน้าปีค.ศ. 1956 ขึ้นไป  ซึ่งอยู่ในช่วงที่อังกฤษปกครองอินเดียอย่างเบ็ดเสร็จนั้น  ลูกสาวไม่มีสิทธิ์ตามกฎหรือระเบียบทางสังคม ประเพณี ที่จะรับมรดกใดๆจากบิดาผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่น้อย

               แล้วเรื่องนี้กลายมาเป็นสินสอดราคาแพง หรือ  สินสอดมรณะของเจ้าสาวได้อย่างไร   รอติดตามในตอนหน้าครับ

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .