สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 มกราคม 2566)

สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน1) 

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว   ผมเดินทางไปหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม ที่เมืองกอลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก

               มีข้อมูลมากมายที่น่าสนใจในแง่มุมต่างๆทางวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งเป็นต้นธารของวัฒนธรรมไทย  ข้อมูลดังกล่าวมีทั้งประเภทเคร่งเครียด  และ ผ่อนคลาย   ผมจึงขอนำเรื่องเล่าดังกล่าวมาสลับกัน  เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านเบื่อเสียก่อน

               ขอเริ่มต้นด้วยเรื่อง  “สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย”   ซึ่งแตกต่างจากสินสอดในความหมายของไทย   เพราะในอินเดีย  ฝ่ายเจ้าสาวต้องเป็นฝ่ายมอบสินสอดแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว

               ปัจจุบัน  ประเพณีดังกล่าวยังคงปฎิบัติกันอยู่ในหมู่บ้าน หรือ เมืองเล็กๆในชนบทที่ห่างไกลของอินเดีย  แต่เป็นจำนวนน้อย

               แล้วประเพณีการแต่งงานของอินเดียในปัจจุบันเป็นอย่างไร

               ประเพณีการแต่งงานของอินเดีย จะเป็นวิถีการแต่งงานแบบอนุรักษ์นิยม  คือ  การแต่งงานภายใต้การจัดการ  หมายความว่า  การแต่งงานที่ได้รับการจัดการโดยบิดามารดา  หรือ  ญาติผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ที่มีความเห็นร่วมกันถึงความเหมาะสมของลูกชายกับลูกสาวของตนเอง 


(ภาพการแต่งงานของชาวฮินดูในปัจจุบัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               โดยไม่จำเป็นต้องถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวก่อนเลย  และเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆที่คู่บ่าวสาวจะพบหน้ากันครั้งแรกในงานแต่งงานของตัวเอง  หรือ อย่างเก่งก็อาจจะเคยพบหน้ากันแบบครอบครัวเพียงครั้ง หรือ สองครั้งก่อนหน้าวันแต่งงานเท่านั้น

               ที่เรียกกันว่า  การแต่งงานแบบคลุมถุงชน

               ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องการแต่งงาน  ผมขอพูดถึงเรื่องที่มีผู้ถามบ่อยมากก็คือ  จริงหรือไม่  ที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้จ่ายค่าสินสอดให้ฝ่ายชาย

               ตามกฎหมายของอินเดียระบุว่า  สินสอด ก็คือ ทรัพย์สินทั้งที่เป็นทรัพย์สินเงินทอง  เครื่องอัญมณี  ทองคำ  เตียงนอน  โซฟา   รถยนตร์  เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น  ตู้เย็น  หรือ  แม้กระทั่ง บ้าน  ที่ดิน ที่คู่แต่งงานมอบให้ในการแต่งงาน

               ปัญหาที่เกิดขึ้นในอินเดียในอดีตก็คือ  สินสอดที่ฝ่ายหญิงต้องมอบให้แก่ฝ่ายชาย  อันเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  ทั้งคดีฉ้อโกง   การทำร้ายร่างกาย จนถึงการก่ออาชญากรรมต่อฝ่ายหญิง

ทำให้หลายฝ่ายกล่าวหาว่า  ประเพณีดังกล่าวมาจากข้อกำหนดของศาสนาฮินดู  อันเป็นเรื่องที่ล้าหลัง และ กดขี่ทางเพศอย่างมาก

ใช่หรือไม่  ผมจะค่อยๆขยายความต่อไปเรื่อยๆครับ  


(อาเรียน นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เรื่องสินสอดจากฝ่ายหญิงของอินเดีย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในอดีตนั้น ไม่มีใครยืนยันอย่างมีหลักฐานที่ชัดเจนมั่นคงว่ามีที่มาอย่างไร  เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด  และ  ใครเป็นผู้คิดค้นขึ้น 

แต่จากบันทึกของ อาร์เรียน แห่ง นิโคมีเดีย (ARRIAN OF NICOMEDIA) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่เขียนเรื่องราวการเดินทางของอเล็กซานเดอร์มหาราช ในการยกทัพรุกรานอินเดียในสมัยศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ระบุว่า

               “การแต่งงานของชายหญิง(ในอินเดีย)ในยุคนั้น  เกิดจากการเลือกสรร และ ความต้องการของฝ่ายชาย  โดยที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องสินสอดของฝ่ายหญิง ว่ามีมากน้อยเพียงใด  แต่มักจะสนใจว่า  เธอมีความงดงามเพียงใด และ บุคลิคภาพของเธอโดดเด่นเพียงใดเท่านั้น”

               อาจเป็นไปได้ว่า  จะมีการให้สินสอดกันในยุคนั้นเหมือนกัน   แต่คงจะเป็นไปตามธรรมเนียม


(อัล บิรูนี ปรากฎภาพบนสแตมป์ของสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1973 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หรือแม้แต่นักปราชญ์ชาวอิสลาม เปอร์เซีย ที่ชื่อ อาบู รายฮาน อัล บิรูนี่(ABU RAYHAN AL-BIRUNI)  หรือชื่อในภาษาละตินว่า อัลเบอร์นิอุส(ALBERONIUS) ผู้เข้ามาอาศัยอยู่ในอินเดียนานกว่า 16 ปีราวปีค.ศ. 1071 ก็บันทึกไว้ว่า 

               “การแต่งงานที่นำมาซึ่งความสุข สนุกสนานนั้น  ไม่มีการจ่ายสินสอดกันระหว่างครอบครัว   ฝ่ายชายเพียงแต่มอบของขวัญที่เห็นว่าควรค่าแก่ฝ่ายหญิง ก่อนวันแต่งงาน  ซึ่งของขวัญนี้จะไม่สามารถเรียกคืนได้   แต่หากเจ้าสาวไม่ต้องการจะแต่งงาน  ก็สามารถคืนของขวัญนี้ให้แก่ฝ่ายชายได้”

               หมายความว่า  ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2300 ปีที่แล้ว   อินเดียไม่มีประเพณีการให้สินสอดจากฝ่ายเจ้าสาว  อาจจะมีก็เพียงการมอบของขวัญให้แก่กันเท่านั้น  

               ประเพณี “ฝ่ายเจ้าสาวมอบสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย” เกิดขึ้นได้อย่างไร  เป็นที่ยอมรับของสังคมได้อย่างไร  และ ยังคงมีอยู่ในสังคมของชาวอินเดียหรือไม่ในปัจจุบัน

               รอติดตามตอนหน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .