ชาวอินเดียเริ่มเห็นต่างกรณีคานธี(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 ธันวาคม 2565)

ชาวอินเดียเริ่มเห็นต่างกรณีคานธี(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในช่วงหลายสิบปีหลังจากที่ประเทศอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1947   ภาพของอินเดียในสายตาของชาวโลกจะเห็นภาพของ มหาตะมะ คานธี ที่เด่นชัดในการต่อสู้ในแนวทางอหิงสา เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

               นั่นเป็นเพราะ  นับแต่รัฐบาลแรกของประเทศอินเดียเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน   พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่ของอินเดียก็คือ พรรค คองเกรส ของ ตระกูลคานธี


(สัญลักษณ์ของพรรค INDIAN NATIONAL CONGRESS )

               พรรคคองเกรส ของตระกูลคานธี ก่อกำเนิดมาจากชาวอินเดียรักชาติ ที่ร่วมกันเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ  เรียกตัวเองว่า INDIAN NATIONAL CONGRESS  

               เชื่อมั้ยครับว่า  คนที่เริ่มก่อตั้งกลุ่ม INDIAN NATIONAL CONGRESS ไม่ใช่ชาวอินเดีย   แต่เป็นข้าราชการเกษียณชาวอังกฤษที่เคยรับราชการในอินเดีย ชื่อ อัลลัน ออคเทเวียน ฮูม (ALLAN OCTAVIAN HUME) คงเพราะรู้สึกเห็นใจชาวอินเดีย  จึงลงมาช่วยชาวอินเดียในการเรียกร้องอิสรภาพ


(อัลลัน ออคเทเวียน ฮูม)

               แต่การเรียกร้องอิสรภาพดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย  โดยเฉพาะเมื่ออังกฤษใช้ความโหดเป็นไม้แข็งจัดการกับผู้ออกมาเรียกร้องอิสรภาพ  และ ในหมู่ของผู้รักชาติอินเดียเองก็มีแนวคิด และ ยุทธวิธีในการต่อสู้ที่แตกต่างกันพอสมควร

               จึงมีคนเข้าร่วมกลุ่มคองเกรส   และ  ลาออก  หรือ ถูกบีบให้ออกไป เป็นเรื่องปกติ

               สมาชิกในกลุ่มที่มีชีวิตรอดมาจนกระทั่งวันที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ และ ยังอยู่ในศูนย์อำนาจของกลุ่ม  จึงจะเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดีย  ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีแกนกลาง  เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยม  และ  มีภาพพจน์ที่ดี


(มหาตมะ คานธี)

               คนๆนั้นคือ โมฮันดาส คารามจันด์ คานธี (MOHANDAS KARAMCHAND GANDHI) รู้จักกันในนาม มหาตะมะ คานธี(MAHATMA GANDHI) โดยมีคนใกล้ชิดที่สุดเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อมาก็คือ เยาวหะราล เนห์รู(JAWAHARLAL NEHRU)  

               รัฐบาลของพรรคคองเกรส ได้วางแนวทางของประวัติศาสตร์อินเดียลงในตำราของนักเรียน  ความรู้  ความเห็นทั่วไปที่ประชาชนจะรับรู้ล้วนเป็นแนวทางที่เป็นคุณแก่พรรคคองเกรสมาโดยตลอด  จนกระทั่ง  เข้ามาสู่ยุคสมัยที่ความรู้  ข้อมูลข่าวสาร เดินทางอย่างรวดเร็ว และ ยากที่จะปิดกั้น

               ทุกวันนี้  คนทั่วไปจึงได้เห็นแนวคิดใหม่ในเรื่องประวัติศาสตร์ของอินเดียที่เปลี่ยนไปจากเดิม  เริ่มตั้งแต่การพยายามรื้อฟื้นตำราวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนเสียใหม่  ที่เน้นแต่ในเรื่องของราชวงศ์โมกุล (MUGHAL EMPIRE)

               ทั้งๆที่   ราชวงศ์โมกุล ไม่ใช่ชาวฮินดู  และ เป็นผู้รุกรานจากต่างแดน  และ ได้กระทำการกดขี่ข่มเหงชาวฮินดูอย่างหนักหนาสาหัส

               จึงไม่น่าแปลกใจที่  โปรแกรมทัวร์ที่ไปเที่ยวอินเดีย จึงต้องมีทัชมาฮัล  และ ป้อมปราการอัคกรา ที่อยู่ใกล้ๆกัน  โดยมองข้ามวัฒนธรรม  โบราณสถาน  และ  ประวัติศาสตร์ของชาวฮินดูดั่งเดิมไปหมด

               แต่เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565   ในขณะที่มีงานเทศกาลเฉลิมฉลอง นวราตรี กันทั่วประเทศ  เหตุการณ์ที่น่าสนใจก็เกิดขึ้นที่เมืองกอลกัตตา เมืองหลวงเก่าของอินเดียก่อนปีค.ศ. 1911  ซึ่งก็เฉลิมฉลองเทศกาลนี้เช่นกัน  แต่เรียกชื่อใหม่ว่า  ทุรคา ปูชา

               สิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นจนเป็นข่าวไปทั่วอินเดีย  เมื่อวิหารจำลองที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติ ตามประเพณีนี้   มีรูปพระแม่กาลีซึ่งโดยปกติจะเป็นภาพปราบอสูรควาย  กลับกลายเป็นภาพของผู้ชายไร้ผม สวมแว่นตาดำ ปรากฎขึ้นแทน

               ทำให้มีการตีความไปต่างๆนานา

               สัปดาห์หน้า   ผมจะมาเล่าต่อครับ  และจะยาวไปถึงเรื่องความเห็นต่างของชาวอินเดียครับ

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .