วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 ตุลาคม 2565)

วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   เกิดกระแสความขัดแย้งทางความคิดเรื่องการเอา หรือ ไม่เอา วันไหว้ครู ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  คนที่สนับสนุน “วันไหร้ครู” จะพูดถึงในมุมมองแห่งความสวยงาม ทั้งในแง่ของจริยธรรมของลูกศิษย์ และ ความซาบซึ้งของผู้เป็นครู

แต่ในมุมของฝ่ายไม่เอา “วันไหว้ครู” ก็จะบอกว่า เป็นศักดินา ล้าหลัง ประมาณนี้

ผมในฐานะ “ศิษย์มีครู”  ขอออกตัวก่อนว่า  ผมเป็นฝ่ายสนับสนุนการไหว้ครู  เพราะตลอดชีวิตของผม ได้พบกับครูที่ดี  มีเมตตา  และมีผลที่ดีอย่างมหาศาลต่อชีวิตผมหลายต่อหลายคน  หลายต่อหลายท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว   แต่ผมก็ยังรำลึกถึงพระคุณของท่านไม่เคยลืม 

เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันในประเด็นเรื่อง การไหว้ครู  ผมขอนำเสนอข้อมูลบางอย่างที่อาจจะแตกต่างกันให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา  เพื่อจะได้ตัดสินใจในประเด็นนี้ด้วยความคิดของตัวเอง  โดยไม่ต้องอ้างอิงต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น  


(เครื่องประกอบในการไหว้ครู – ภาพจาก M-THAI.COM)

               ผมจำได้ว่าตอนเรียนชั้นประถม  เมื่อถึงวันครู  นักเรียนต้องวิ่งวุ่นเพื่อหาหญ้าแพรก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และ ธูปเทียน ซึ่งทางโรงเรียนสั่งให้นักเรียนจัดหามา   โดยอ้างอิงตามประกาศของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิบดีกรมสามัญศึกษา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 ว่า พานไหว้ครูประกอบด้วย  “พานดอกไม้ มีดอกไม้  หญ้าแพรก  ดอกมะเขือ จัดให้สวยงามตามสมควร”

               จึงตกเป็นภาระของแม่ผมที่จะต้องจัดหาทุกอย่างจนวุ่นวายไปหมด  ซึ่งเชื่อว่า คงจะเหมือนกันแทบทุกบ้าน

               ในตอนนั้น  ผมไม่รู้หรอกว่า ทำไมต้องใช้หญ้าแพรก  ดอกมะเขือ หรือ ดอกเข็ม  หรือครูอาจจะเคยพูด  แต่เด็กอย่างผมก็ลืมไปหมดแล้ว


(ดอกมะเขือ – จากเว็บไซต์ SANOOK.COM)

               จากวันนั้น  มาถึงวันนี้  ก็ยังมีการไหว้ครูกันอยู่ทุกปี  แต่รายละเอียดดูเหมือนจะแตกต่างไปพอสมควร

               สิ่งสำคัญก็คือ  ทำไมเราจึงไหว้ครู เป็นคำถามหลัก  และ พิธีไหว้ครูที่แท้จริงที่เลือนหายไปมาก  ทุกวันนี้จึงเหลือเพียงแต่พิธีกรรม  ที่เน้นเพียงความหรูหรา  ดรามา เท่านั้น  ทิ้งเนื้อหาสาระที่แท้จริงของความสำคัญของการไหว้ครูไปหมด

               บังเอิญผมได้อ่านพบในเฟซบุ๊คของฝ่ายที่สนับสนุนการไหว้ครูว่า

               “แม้กระทั่งครูชาวต่างประเทศที่รับไหว้จากลูกศิษย์ยังซาบซึ้งในพิธีไหว้ครูจนน้ำตาไหล  และยกย่องว่าเป็นพิธีที่ดี”


(ภาพการไหว้ครู ของ โรงเรียน REGENT’S INTERNATIONAL)  

               จะเห็นว่า  ภาพการไหว้ครูชาวต่างชาติที่ผมนำมาลงนั้น  นักเรียนไหว้ครูด้วยพานพุ่มเป็นหลัก อาจจะมีหญ้าแพรก  ดอกมะเขือ หรือ ดอกเข็ม แต่ไม่คงจะเน้น  ซึ่งไม่ใช่หัวใจของการไหว้ครูไทยแต่โบราณ 

               ที่สำคัญก็คือ  พานพุ่มเป็นสิ่งที่นักเรียนไม่สามารถทำขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง  หมายความว่า   บิดามารดาจะต้องทำให้  หรือ  นักเรียนจะต้องซื้อหามาเอง

               แต่อะไรคือหัวใจของการไหว้ครู 

               สัปดาห์หน้า  ผมจะเล่าเรื่องที่มาของแนวคิดของการไหว้ครูครับ

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .