ซอกซอนตะลอนไป (26 มิถุนายน 2565)
อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
บนเกาะเซเฮลนี้ มีการค้นพบวิหารเก่าแก่ ที่เชื่อกันว่าถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเก่า(THE OLD KINGDOM) ประมาณ 4500 ปีที่แล้ว
วิหารหลังนี้ สร้างขึ้นเพื่อถวายแก่เทพคนุม (KHNUM) เทพหัวแพะ ซึ่งตามตำนานของอียิปต์โบราณเชื่อว่า เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสรรมนุษย์ ด้วยการใช้ดินเหนียวปั้นบนแท่นเครื่องปั้นดินเผาแบบหมุน และ บางแหล่งก็บอกว่า เทพคนุมยังเป็นเทพแห่งแม่น้ำไนล์ด้วย
นี่คือจุดเชื่อมที่หนึ่ง ระหว่างศาสนาอียิปต์โบราณ และ ศาสนายูดายของชาวยิว ซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป
มีการค้นพบที่สำคัญก็คือ ศิลาจารึกบนหินแกรนิตซึ่งเรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า “ศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย” (THE FAMINE STELE) ศิลาจารึกดังกล่าวเขียนด้วยภาษาเฮียโรกลิฟส์ ตัวหนังสือเป็นแนวตั้งเป็นคอลัมน์มี 42 คอลัมน์
เหนือจารึก 42 คอลัมน์ขึ้นไป มีรูปภาพของเทพ และ เทพี 3 องค์ ยืนเรียงกันอยู่ ประกอบด้วย เทพคนุม เทพเจ้าผู้สร้างสรรมนุษย์ , เทพี สาติส(SATIS) เทพีที่เป็นตัวแทนของน้ำท่วมของอียิปต์ และ เทพี อนูเคต(ANUKET) เทพีแห่งน้ำ และ น้ำตก
รวมกันเป็นเทพ 3 องค์ ที่เรียกว่า TRIAD ประมาณว่า ครอบครัวเทพ
เบื้องหน้าของเทพ และ เทพีทั้งสามองค์ก็คือ ฟาโรห์ ซอเซอร์ (DJOSER) ฟาโรห์ของราชวงศ์ที่ 3 ของยุคอาณาจักรเก่า ซึ่งมีผู้ขนานนามว่า เป็นยุคพีระมิด เพราะพระองค์เป็นผู้ออกคำสั่งให้สร้างพีระมิดเป็นครั้งแรก และกลายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า พีระมิดแบบขั้นบันได (STEP PYRAMID) ที่เมืองซัคคารา ไม่ไกลจากไคโรนัก
(ดูภาพขยายของฟาโรห์ที่กำลังถวายเครื่องหอมและกำยานในช่วงท้ายของบทความครับ)
และ พีระมิดแบบขั้นบันได ก็กลายมาเป็นแนวคิดพื้นฐานของการสร้างพีระมิดแบบฉาบเรียบที่เมือง กีซา และ เมืองอื่นๆทั่วทั้งอียิปต์ในเวลาต่อมา
ฟาโรห์ ซอเซอร์ มีชีวิตอยู่ระหว่าง 2686 – 2648 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4700 ปีที่แล้ว
ในภาพสลักดังกล่าว ฟาโรห์ซอเซอร์ กำลังถวายสิ่งบูชาให้แก่เทพ และ เทพีทั้งสาม ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องหอม หรือ กำยาน ที่ใช้ในการประกอบพิธีบูชาเทพเจ้า
จารึกแห่งทุพภิกขภัย ดังกล่าว สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยของ ราชวงศ์ปโตเลมี ผู้ปกครองที่เป็นชาวกรีกปกครองอียิปต์ตั้งแต่ 332 ปีก่อนคริสตกาล จนสิ้นสุดในราว 30 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7
จารึกดังกล่าว บรรยายถึงความแห้งแล้งของแม่น้ำไนล์ที่มีระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์จนน้ำไม่ท่วมตลิ่งทั้งสองฝั่ง และ ระดับน้ำในแม่น้ำก็คงจะลดต่ำลงอย่างมากจนไม่สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้
ปรากฎการณ์น้ำน้อยผิดปกติดังกล่าวนี้ ในจารึกระบุว่ากินเวลานาน 7 ปี ทำให้เกิดภาวะข้าวยาก หมากแพง จนประชาชนไม่มีอาหารที่จะบริโภคได้เลย
ในช่วงนั้น อียิปต์มีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการเกษตร และ กสิกรรม ร้อยเปอร์เซนต์ หากปีใด แม้แต่เพียงปีเดียวที่พืชผลเสียหายหนัก ประชาชนก็ประสบกับความลำบากแล้ว แต่นี่นานถึง 7 ปี
ทำไม น้ำต้องท่วมตลิ่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์ด้วย เพราะทุกปีเมื่อถึงช่วงฤดูร้อน น้ำจากแม่น้ำไนล์จะไหลบ่าลงมาอย่างบ้าคลั่ง เพราะมีฝนตกหนักในบริเวณป่าดงดินของเอธิโอเปีย และ ในอูกันดา
ฝนตกหนักเท่าไหร่ในสองประเทศนี้ น้ำก็จะไหลทะลักทะลายลงมาเพราะไม่มีอะไรขวางกั้น และ ทำให้น้ำท่วมสองฝั่งแม่น้ำไนล์
แม่น้ำไนล์ไม่เพียงแต่ท่วมสองฝั่งเท่านั้น แต่ได้ชะเอาทรากสิ่งมีชีวิต และ ต้นไม้ใบหญ้า ลงมาด้วย และ ทับถมบนตลิ่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์
ภาวะน้ำท่วมนี้จะกินเวลานาน 4-5 เดือนต่อปี จึงจะลดลงสู่สภาพปกติ ช่วงเวลานี้ ชาวไร่ชาวนาจะไม่สามารถทำไร่ไถนาได้เลย ได้แต่นั่งรอคอยให้น้ำลดลงตามธรรมชาติ
แต่หลังจากน้ำลดแล้ว แผ่นดินที่ถูกน้ำท่วมจะกลายเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกในปีถัดไป เป็นเช่นนี้ทุกปี แม่น้ำไนล์จะท่วมสองฝั่งจนเป็นวัฎจักรของชีวิตริมแม่น้ำไนล์ไปแล้ว
และนี่ก็คือที่มาของการเกิด ศิลาจารึกแห่ง ทุพภิกขภัย ที่อยู่บนเกาะ เซเฮล ครับ
เราจะมาว่ากันต่อในตอนสัปดาห์หน้าครับ