โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน9)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 พฤษภาคม 2565)

โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน9)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ราทาน ตาต้า เป็นนักธุรกิจที่มีแนวคิดในการขยายธุรกิจออกไปสู่นอกประเทศ  แทนที่จะตีกินรวบหัวกินหางบรรดาธุรกิจรายเล็กรายน้อยในประเทศ ซึ่งมันง่ายกว่าสำหรับบริษัทที่มั่งคั่งร่ำรวยขนาดนี้

               ในอดีต  เขาเคยเป็นประธานบริษัทตาต้า ซันส์  และ ประธานของบริษัท ตาต้า กรุ๊ป  แต่ปัจจุบันได้เกษียณอายุออกมาแล้ว  เหลือเพียงตำแหน่งเดียวก็คือ ประธานของกองทุนเพื่อการกุศลของตาต้าเท่านั้น

               ด้วยความที่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และ เป็นผู้มีเมตตาธรรมอย่างมากของเขา  เขาจึงเน้นไปที่การขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ


(สินค้า ชา ของบริษัท เทตลีย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัท ตาต้า กรุ๊ป)

               บริษัทตาต้ามีบริษัทในเครือภายใต้กลุ่มบริษัท TATA CONSUMER PRODUCTS ที่ทำธุรกิจขายใบชา เรียกว่า บริษัท ชา ตาต้า(TATA TEA) ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวอินเดีย และ  ชาวอังกฤษ และ อเมริกัน นิยมดื่ม

               ขณะเดียวกัน  อังกฤษเองก็มีบริษัท เทตลีย์ (TETLEY) ทำธุรกิจค้าขายใบชาก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1837   และเป็นเหตุผลเพื่อที่จะขยายช่องทางในการระบายชาของอินเดียออกไปสู่ตลาดโลกให้กว้างขึ้น และ มากขึ้น  ราทาน ตาต้าจึงได้เจรจาขอซื้อบริษัท เทตลีย์ เป็นผลสำเร็จ  ทำให้ชาวไร่ชาของอินเดียได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการนี้  เพราะเทตลีย์ มีตลาดทั้งในอังกฤษ  ยุโรป และ อเมริกา


(โรงงานเหล็กตาต้า ที่ซื้อมาจาก คอรุส)

               นอกจากนี้  เขายังซื้อบริษัท คอรุส (CORUS)  บริษัทผลิตเหล็กของอังกฤษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ บริษัทเหล็กตาต้า (TATA STEEL) เป็นผลสำเร็จในปีค.ศ. 2007 ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำธุรกิจรถยนต์

               แม้การซื้อบริษัทเหล็ก คอรัส จะทำให้ บริษัทเหล็ก ตาต้าจะกลายเป็นบริษัทเหล็กที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก  แต่เนื่องจากในปีถัดมามีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  ทำให้การซื้อดังกล่าวไม่สู้ประสบความสำเร็จนัก  และทำให้มูลค่าของธุรกิจเหล็กของตาต้า หล่นลงมาจากอันดับ 5 มาอยู่ที่อันดับ 11

               กระนั้นก็ตาม ปัจจุบัน บริษัท ตาต้า สตีล ก็ยังเป็นเจ้าของโรงงานเหล็กที่มีขนาดใหญ่ของยุโรป

               แต่กรณีสุดคลาสสิคก็คือ  การซื้อบริษัท รถยนต์ ฟอร์ด ของสหรัฐอเมริกา


(รถบันทุก ที่เห็นวิ่งกันทั่วประเทศอินเดีย  เป็นผลผลิตของบริษัท ตาต้า มอเตอร์)

               ราทาน ตาต้า ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัทตาต้า กรุ๊ปในปีค.ศ. 1991  ขณะนั้น  ตาต้า เป็นเจ้าตลาดผู้ผลิตรถบันทุกที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย  แต่ตาต้ากรุ๊ป ยังไม่เคยผลิตรถยนต์เก๋งเลย


(รถยนต์เก๋ง ตาต้า อินดิกา เข้าใจว่าน่าจะเป็นวันเปิดตัว จะเห็น ราทาน ตาต้า นั่งอยู่ในรถด้วย)

               เขาจึงวางแผนที่จะผลิตรถยนต์เก๋งออกสู่ตลาด  และในปีค.ศ. 1998 หลังจากเตรียมงานการผลิตอยู่หลายปี   ตาต้า มอเตอร์ ก็ออกรถยนต์เก๋งรุ่นแรกสู่ตลาด รถรุ่นนี้เรียกว่า  ตาต้า อินดิกา(TATA INDICA) ถือเป็นโครงการณ์ในฝันของเขาทีเดียว

               ทว่า  ยอดขายของตาต้า อินดิกา ย่ำแย่ที่สุด  จนเรียกได้ว่า  ขาดทุนย่อยยับ   ราทานตาต้า จึงคิดจะขายธุรกิจผลิตรถยนต์เก๋งนี้เสีย  ซึ่งต่อมา  บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (FORD MOTOR COMPANY) ที่ก่อตั้งโดย เฮนรี่ ฟอร์ด เมื่อปีค.ศ. 1903 ให้การสนใจที่จะซื้อบริษัทนี้ของตาต้า


(วิลเลี่ยม ฟอร์ด จูเนียร์)

               วิลเลี่ยม เคลย์ ฟอร์ด จูเนียร์(WILLIAM FORD JR.) หรือ  บิลล์ ฟอร์ด(BILL FORD) ซึ่งเป็นผู้บริหารฟอร์ด มอเตอร์ในขณะนั้น ได้เชิญ ราทาน ตาต้า และ ทีมงานผู้บริหารทั้งชุด บินไปยังสำนักงานใหญ่ที่เมืองดีทรอย สหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจารายละเอียด

               ทีมงานของทั้งสองฝ่ายพบปะพูดคุยกันนานประมาณ 3 ชั่วโมง  เป็น 3 ชั่วโมงแห่งความอึดอัดคับแค้นใจอย่างยิ่งของ ราทาน ตาต้า   เพราะ บิลล์ ฟอร์ด เอาแต่พูดจาสบประมาท ตามแบบคนตะวันตกที่มองคนเอเชียด้วยสายตาดูหมิ่นดูแคลนอยู่แล้ว

               ตอนหนึ่ง  บิลล์ ฟอร์ด บอกว่า

“ทำไม  คุณถึงคิดจะมาผลิตรถยนต์เก๋งแบบนี้ เพราะคุณไม่รู้เรื่องอะไรเลยแม้แต่น้อย………..การที่เรามาซื้อบริษัทของคุณ  เท่ากับเราเข้ามาช่วยชีวิตของคุณอย่างแท้จริง”

คืนนั้นเอง  ราทาน ตาต้า ตัดสินใจไม่ขายบริษัทผลิตรถยนต์เก๋งให้แก่ บิลล์ ฟอร์ด และ  นำทีมงานของเขาบินกลับมุมไบในคืนนั้นทันที

จากนั้น  เขาก็ทุ่มเททุกสรรพกำลังในความพยายามที่จะผลิตรถยนต์เก๋งออกสู่ตลาดเพื่อลบล้างคำสบประมาทของ บิลล์ ฟอร์ดให้ได้

พบกับการต่อสู้ที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของความเป็นมนุษย์ผู้มีคุณธรรม ของ ราทาน ตาต้า ผ่านทางการตลาดรถยนต์ ในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .