ซอกซอนตะลอนไป (8 พฤษภาคม 2565)
โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน6)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
หลังจากยุคของ ดอรับจิ ตาต้า ก็มาถึงยุคของ เจฮังกีร์ ราตานจิ ดาดับบอย ตาต้า หรือเรียกสั้นๆว่า เจ.อาร์.ดี. ตาต้า (J.R.D.TATA) เป็นผู้บริหารบริษัท ตาต้า กรุ๊ป
เนื่องจากมารดาเป็นชาวฝรั่งเศส และเขาเองก็เกิดในฝรั่งเศส เจ อาร์ ดี จึงมีสัญชาติฝรั่งเศส และใช้ชีวิตช่วงต้นในปารีส หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาต่อในหลายประเทศ เช่น ลอนดอน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และ ที่บอมเบย์ อินเดีย เขาจึงใช้ภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศสได้อย่างดียิ่ง
ปีค.ศ. 1929 ตอนที่อายุ 25 ปี หลังจากมารดาของเขาเสียชีวิต ครอบครัวของเขาได้ย้ายกลับมาอาศัยในอินเดีย เขาจึงประกาศสละสัญชาติฝรั่งเศส และ ถือสัญชาติอินเดียเพียงสัญชาติเดียว
ในปีนั้น เขาเริ่มทำงานในบริษัท ตาต้า ซันส์(TATA SONS) เป็นพนักงานฝึกงานที่ไม่มีเงินเดือน เมื่ออายุได้ 34 ปี เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานของบริษัท ตาต้า ซันส์ ต่อจากญาติของเขา
อาจเพราะเขาเติบโตในโลกตะวันตก แนวคิดในเรื่องศาสนาของเขาจึงเปลี่ยนไป จากเดิมที่ครอบครัวนับถือศาสนาโซโรแอสเทรียน ที่นับถือเทพเจ้า อาฮูรา มาสดา (AHURA MAZDA) เขามีแนวคิดในทางศาสนาในเชิงไม่ปฎิเสธ หรือ ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า (AGNOSTIC) ด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พระเจ้ามีอยู่จริง
นอกจากนี้ เขายังมองพิธีกรรมหลายๆอย่างของศาสนาโซโรแอสเทรียนว่า น่ารำคาญ
กระนั้น เขาก็ยังคงเป็นผู้ยึดมั่น ถือมั่นในหลักปฎิบัติสำคัญ 3 ประการของศาสนาโซโรแอสเทรียน คือ การคิดดี การพูดดี และ การทำดี
ในวันที่เขาเข้าไปรับหน้าที่บริหารองค์กรตาต้า ซันส์ ในปีค.ศ. 1938 บริษัทมีธุรกิจหลักคือ เหล็ก บรรดางานทางด้านวิศวกรรมต่างๆ พลังงาน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และ ธุรกิจบริการ เช่นโรงแรม เป็นต้น
ตอนที่เขาเริ่มบริหารบริษัท ตาต้า ซันส์ บริษัทมีบริษัทในเครือ 14 แห่งด้วยกัน หลังจากที่เขาบริหารงานของบริษัทอยู่นาน 50 ปี เมื่อเขาลาออกออกไปในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 1988 บริษัท ตาต้า ซันส์ ประกอบด้วยบริษัทในเครือใหญ่น้อยมากถึง 95 องค์กร
ทรัพย์สินของ ตาต้า ซันส์ในวันแรกที่เขาเข้าไปบริหารคือ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตอนที่เขาออกจากตำแหน่ง ทรัพย์สินขององค์กรขยับขึ้นไปเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่สิ่งที่ผมประทับใจและขอนำมาเล่าในที่นี้ก็คือ
เจ.อาร์.ดี ได้รับแรงบันดาลใจจาก หลุยส์ บลีริออท (LOUIS BLERIOT) (หากออกเสียงภาษาฝรั่งเศสผิดก็ขออภัยด้วย) ซึ่งเป็นเพื่อนของบิดา และเป็นนักบินคนแรกที่บินข้ามช่องแคบอังกฤษ
หลังจากนั้น เขาก็เริ่มศึกษาเรื่องการบิน และ ได้ใบอนุญาตในการขับเครื่องบินเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1929 ขณะที่มีอายุ 25 ปี
เขาได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่า เป็นบิดาของวงการบินพลเรือนของอินเดีย แต่ยังไม่จบแค่นั้น
ด้วยความหลงไหลในเรื่องการบิน เขา และเพื่อนชื่อ เนวิล วินต์เซนต์(NEVILL VINTCENT) เริ่มก่อตั้งสายการบิน ตาต้า(TATA AIRLINES)เป็นสายการบินพาณิชย์แห่งแรกของอินเดียขึ้นในปีค.ศ. 1932 โดยที่เขา และ เพื่อน เป็นผู้ขับเครื่องบินเที่ยวบินแรกด้วยตัวเอง
เป็นเที่ยวบินขนส่งจดหมายจากเมืองการาจี ไปยังเมืองบอมเบย์ ด้วยเครื่องบินใบพัดเดียว DE HAVILLAND PUSS MOTH ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบ 3 ที่นั่งของอังกฤษ
ในปีนั้นเอง บริษัท การบินตาต้า ได้เซนต์สัญญาขนส่งจดหมายจากหน่วยงานขนส่งทางอากาศของอังกฤษที่เรียกว่า IMPERIAL AIRWAY ในการส่งพัสดุ และ จดหมายต่างๆ
สายการบิน ตาต้า มีเครื่องบิน เดอ ฮาวิลแลนด์ พุสส์ มอธ 2 ลำ ในวันที่เปิดสายการบิน
ปีแรกของสายการบินตาต้า ดูเหมือนว่าจะไปได้อย่างสวยงาม เพราะในปีนั้น สายการบินตาต้า สามารถทำกำไรได้ 60,000 รูปี หรือ เทียบเท่ากับ 800 ดอลล่าร์ ทีเดียว
แต่ก้าวเดินของสายการบินตาต้า ก็พบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งผมจะเล่าต่อในตอนหน้าครับ