น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 ธันวาคม 2564)

น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 88 ปี  มีการปฎิวัติรัฐประหาร 13 ครั้งด้วยกัน  

โดยทหาร

               ตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราช ในวันที่ 15 สิงหาคม ปีค.ศ.1947 หรือ  พ.ศ. 2490 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 74 ปี  อินเดียไม่เคยมีการปฎิวัติรัฐประหารเลย  แม้แต่ครั้งเดียวโดยทหาร


(นายเยาวหราล เนห์รู ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย กล่าวปราศรัยต่อประชาชน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปีค.ศ. 1947 หลังประเทศได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ทั้งๆจากข้อมูลของปีค.ศ. 2020  อินเดียมีกองกำลังทหารที่ถูกจัดว่าแข็งแกร่งเป็นอันดับ 4 ของโลก  รองลงมาจาก  อเมริกา  รัสเซีย และ จีน

               ในช่วงที่เกิดโศกนาฎกรรมการเสียชีวิตของ นายพล บิพิน ราวัต  เป็นช่วงที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง  ซึ่งมีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดการปฎิวัติรัฐประหาร  หากทหารในกองทัพอินเดียต้องการจะก่อรัฐประหาร

               นี่เป็นเหตุผลที่ประชาชนชาวอินเดียหลั่งน้ำตาให้แก่ นายพลบิพิน ราวัต  ทหารหาญของเขาที่เสียชีวิต   มิใช่เขาหลั่งน้ำตาให้แก่นายพล บิพิน ราวัต เท่านั้น

               แต่เขาหลั่งน้ำตาเพื่อแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของกองทัพของประเทศโดยรวม

               แม้ว่าคำขวัญของกองทัพของอินเดียจะมีมากมายแยกออกเป็นเหล่า-กอง  แต่โดยรวมแล้ว  มีใจความว่า  กองทัพมีหน้าที่  “ปกป้อง และ  บริการ” (PROTECT AND SERVE) ต่อประชาชน 

               กองทัพไม่มีหน้าที่ “ปกครอง” (RULE) ประชาชน 

               ดังนั้น  เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติร้ายแรง  ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว   น้ำท่วมฉับพลัน   หรือ  ภัยพิบัติอื่นๆ   ทหารจะเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างแข็งขัน

               แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง  แต่ละรัฐจะมีหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยอยู่แล้ว   แต่ทั้งจำนวนคน  และ  เครื่องไม้เครื่องมือ  และ  งบประมาณ ของหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยเหล่านั้นมักไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภัยพิบัติใหญ่ๆได้ทันท่วงที


(ภาพทหารพร้อมเครื่องมือเข้าช่วยเหลือประชาชนในเมืองกอลกัตตา – ภาพจาก THE ECONOMIC TIMES)

               เช่นกรณีพายุไซโคลนอัมพัน พัดเข้าถล่มเมืองกอลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2563 จนก่อให้เกิดความเสียหายขนาดใหญ่ทั้งบนบก และ ในทะเล  มีคนตายมากว่า 112 คน  ต้นไม้ใหญ่ล้มระเนนระนาด  ระบบไฟฟ้าเสียหายแทบทั้งเมือง  ระบบการสื่อสารใช้การไม่ได้ 

               เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นของ รัฐเบงกอลตะวันตกไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที  กองทัพส่วนกลางจึงถูกขอให้มาช่วยฟื้นฟูสภาพความเสียหาย   ระบบไฟฟ้าถูกแก้ไขจนสามารถกลับมาใช้งานได้ภายในวันเดียว

               นี่คือหน้าที่หลักของทหารของทุกประเทศที่เจริญแล้ว

               จากข้อมูลระบุว่า  อินเดียมีทหารบกจำนวน 1,237,000 นาย  มีทหารเรือ 66,100 นาย  และ  ทหารอากาศ 139,850 นาย จึงพร้อมที่จะรับมือภัยพิบัติทุกชนิดได้อย่างทันทีทันควัน

               แต่ไม่ว่าจำนวนกำลังพลของทหารจะมากเพียงใดก็ตาม  ย่อมไม่มีประโยชน์หากผู้นำของกองทัพไร้ซึ่งจิตสำนึกแห่งการ “ปกป้อง และ  บริการ”  และ  นำกองทัพไปใช้ในกิจการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อ 2 แนวคิดดังกล่าว   ย่อมมีแต่จะนำประเทศไปลงคู ลงเหว ได้

               กองทัพของอินเดียได้ผ่านการทดสอบความแข็งแกร่ง  และ  ความเหนียวแน่นของจริยธรรมของผู้นำกองทัพมาหลายครั้ง  ที่สำคัญที่สุดก็คือ ในช่วงที่นายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่าง 25 มิถุนายน ปีค.ศ. 1975 ถึง วันที่ 21 มีนาคม ปีค.ศ. 1977 ตรงกับ ปีพ.ศ. 2518 -2520

               ทำให้อำนาจของนางอินทิรา คานธี มีมากมายล้นเหลือ  และ  การเลือกตั้งทุกชนิดถูกระงับ   และ  ศัตรูทางการเมืองของ นางอินทิรา คานธี ถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมากมาย   การเสนอข่าวของหนังสือทุกชนิดต้องผ่านการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลเสียก่อน


(นาย ซานเจย์ คานธี- ภาพจาก GOOGLE)

               และ การบังคับทำหมันกับประชาชนจำนวนมากบางกลุ่ม  ที่บัญชาการโดย นายซานเจย์  คานธี

               ทุกเหตุการณ์อยู่ในสายตาของกองทัพ  ที่ทำหน้าที่คุ้มครองประเทศเท่านั้น   และ  กองทัพมีหน้าที่เพียงอดทน   และ  ทำหน้าที่เท่าที่รัฐบาลกำหนด 

               แต่การทำหน้าที่ของกองทัพกลับได้รับการยกย่องชมเชยจากประชาชนอย่างมาก   มากกว่าทุกครั้งภายใต้การทำงานของรัฐบาลพลเรือนด้วยซ้ำ 

               อะไรคือภารกิจนั้น   รอคำตอบในตอนต่อไปครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .