ซอกซอนตะลอนไป (19 ธันวาคม 2564)
น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
8 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ชาวอินเดียแทบทั้งประเทศต้องหลั่งน้ำตาด้วยรักอาลัย ต่อการจากไปอย่างกระทันหันของ นายพล บิพิน ราวัต (GENERAL BIPIN RAWAT) และ นาง มัดทูลิกา ราวัต (MADHULIKA RAWAT)ภริยา กับทหารอีกหลายนาย จากกรณีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่ภูเขานิลคีริ (NILGIRIS)ในจังหวัดทมิฬนาดูทางตอนใต้ของอินเดีย ใกล้เมือง เวลลิงตัน อันเป็นจุดหมายปลายทาง เมื่อเวลาประมาณ 12.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คนทันที ทหารท่านสุดท้ายเพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สาเหตุความสูญเสียครั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
ตำแหน่งสุดท้ายของ นายพลบิพิน ก็คือ CDS (CHIEF OF DEFENCE STAFF)หรือ หัวหน้าทีมหน่วยป้องกันประเทศ เทียบประมาณ หัวหน้าคณะเสนาธิการคนแรกของประเทศอินเดีย เป็นตำแหน่งที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 หรือ เมื่อประมาณ 2 ปี ที่แล้ว
CDS เป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะควบคุมทั้ง 3 เหล่าทัพ คือ ทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ เป็นตำแหน่งที่ดูแลควบคุม ไม่ใช่ตำแหน่งลอยๆ ไม่มีอำนาจ
เขามีบทบาทที่แข็งแกร่งในการป้องกันประเทศ จากกลุ่มก่อการร้ายที่เข้ามาทำร้ายชาวอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในจัมมู-แคชเมียร อันเป็นหนามตำใจของรัฐบาลมาโดยตลอด ตั้งแต่อินเดียประกาศเอกราช และ แยกประเทศปากีสถานออกจากอินเดีย
เขาทำการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ลงได้อย่างราบคาบ ประสานกับฝ่ายการเมืองจนทำให้รัฐจัมมู-แคชเมียร ถูกลดสถานะลงมาต่ำกว่ารัฐ และมีความสงบสุขขึ้นจนเกือบจะเป็นปกติ
สำหรับคนที่ไม่เคยทราบประวัติศาสตร์อินเดียมาก่อน อาจจะนึกไม่ออกว่า ภัยก่อการร้ายที่คุมคามอยู่ในรัฐ จัมมู-แคชเมียร์นั้น รุนแรง และ ร้ายแรงขนาดไหน เพราะเรื้อรัง ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่อินเดียประกาศอิสรภาพ
อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลพรรคคองเกรส ที่นำโดย เยาวหราล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ซึ่งนักวิชาการ และ ประชาชนในยุคปัจจุบันต่างกล่าวหา เนรูห์ ว่า ออกกฎหมายเอื้อต่อชาวมุสลิมที่แยกตัวไปเป็นปากีสถาน โดยเฉพาะ ปากีสถานตะวันตก
จนทำให้ชาวฮินดูที่มีถิ่นฐานเดิมในรัฐจัมมู แคชเมียร์ ไม่สามารถอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ได้อีก ต้องยอมทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดอพยพหนีตายออกไปอยู่ในรัฐอื่นแบบที่เรียกว่า ไปแบบตัวเปล่า แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว (ผมจะเขียนเรื่องนี้ในโอกาสต่อไปครับ)
จนกระทั่ง รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ได้ออกกฎหมายเฉพาะรัฐจัมมู แคชเมียร์ และสามารถจัดการให้ชาวฮินดูสามารถย้ายกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเองในจัมมู แคชเมียร อีกครั้ง
ผู้ที่มีบทบาทในการปราบปรามพวกก่อการร้ายในรัฐ จัมมู แคชเมียร์ ก็คือ นายพล บิพิน ราวัต
นอกจากนี้ เขายังได้รับเกียรติให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพของสหประชาชาติ (MONUSCO) ในภารกิจรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในเมือง โกมา(GOMA) เมืองหลวงของเขต คิวูเหนือ (REGIONAL OF NORTH KIVU)ประเทศคองโก ในช่วงที่คองโกเกิดสงครามกลางเมือง
เมืองโกมา มียุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวม
เขาเป็นหัวหน้าหน่วยภารกิจเข้าไปคุ้มครองเมืองโกมา นาน 4 เดือนเต็ม และ เป็นช่วง 4 เดือนที่ประชาชนชาว โกมา มีความปลอดภัย จนได้รับการยกย่องมาก
ในปีค.ศ. 2015 เมื่อทหารอินเดียในเมืองมานิปูร์(MANIPUR) ถูกกลุ่มก่อการร้ายแยกดินแดนที่เรียกว่า UNLFW ที่ต้องการแยกดินแดนอัสสัม(ASSAM) นากาแลนด์(NAGALAND) และ โบโรแลนด์(BOROLAND)ออกไป ซุ่มโจมตีจนทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 18 นาย
นายพลบิพิน ตอบโต้ทันทีอย่างเฉียบขาด ด้วยการส่งเครื่องบิน และ ทหารเข้าไปถล่มค่ายของกลุ่มกบถกลุ่มนี้ที่อาศัยอยู่ในเขตพม่าจนราบคาบ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีความสงบ
ในปีค.ศ. 2019 เขาได้รับเกียรติคุณให้ประกาศชื่อในหอเกียรติยศของ THE UNITED STATES ARMY COMMAND AND GENERAL STAFF COLLEGE INTERNATIONAL HALL OF FAME ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างมากทั้งต่อตัวเอง และ ประเทศชาติ
นี่เป็นรายละเอียดเพียงส่วนเดียวที่โดดเด่นของเขา
ในวันที่ทหารอินเดียนำศพของ นายพลบิพิน ราวัต ออกมาจากจุดเครื่องบินตกกลางป่าลึกในรัฐทมิฬนาดู นั้น เมื่อขบวนรถวิ่งไปตามถนนผ่านชุมชนชาวเมือง ประชาชนที่อาศัยอยู่แถบนั้นได้ออกมาตั้งแถวสองข้างทาง เพื่อแสดงความเคารพต่อนายพลของเขาเป็นครั้งสุดท้าย และ ตะโกนว่า
เราจะรำลึกถึง นายพลบิพิน ราวัต ไปตลอดกาล
แต่เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปในตอนหน้านั้นสำคัญกว่า สำคัญตรงที่ว่า ทำไมคนอินเดียจึงรักทหารของเขาอย่างมาก ประชาชนกว่าครึ่งประเทศต้องหลั่งน้ำตาด้วยความอาลัยเมื่อทหารคนหนึ่งต้องตาย
ทำไม
สัปดาห์หน้า ผมจะมาให้คำตอบครับ