เทศกาล ปิตรุ ปักษา ก่อนเทศกาลนวราตรี(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 พฤศจิกายน 2564)

เทศกาล ปิตรุ ปักษา ก่อนเทศกาลนวราตรี(ตอน2)

โดย                 เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               แม่น้ำฟัลกู ที่ไหลผ่านเมือง พุทธคยา(BODH GAYA) รัฐพิหาร ที่ชาวฮินดูนิยมมาทำพิธี ทาร์พาน ซึ่งเป็นการทำบุญที่เน้นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้วายชนม์ในช่วงเวลาของเทศกาล ปิตรุ ปักษา นั้น  คนไทยเรียกว่า  แม่น้ำเนรัญชรา(NIRANJANA RIVER)

               ตามพุทธประวัติระบุว่า  เจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จลงมาจากเขาดงค์สิริ หลังจากทรงเลิกล้มการทำทุกขรกิริยาเพื่อบรรลุธรรม เพราะเห็นว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง   จนกระทั่งเสด็จมาถึงริมแม่น้ำเนรัญชรา  ฝั่งตรงข้ามกับเจดีย์พุทธคยาในปัจจุบัน  และทรงประทับนั่งใต้ต้นไทร


(แม่น้ำฟัลกู หรือ แม่น้ำ เนรัญชรา ปัจจุบันน้ำค่อนข้างน้อยมาก  และจะแห้งเกือบสนิทในฤดูหนาว)

               นางสุชาดา ธิดาของคหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองคำมาถวายเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะเข้าใจว่า  พระองค์เป็นเทวดามาปรากฎกาย

เป็นช่วงเวลาก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะ จะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

               นี่คือเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำเนรัญชรา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า

               ย้อนกลับมาพูดถึงพิธีกรรม ทาร์พาน ของชาวฮินดู ทำไมชาวฮินดูจึงถือว่า  พิธีทาร์พาน จะมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อเมื่อมาประกอบพิธีที่แม่น้ำคงคา  หรือไม่ก็ที่แม่น้ำเนรัญชรา ที่เมืองพุทธคยา


(เรื่องราวในตำนานของ กายาสูร – ภาพจากกูเกิ้ล)

               ตามคัมภีร์วายุ ปุราณา(VAYU PURANA) ระบุว่า  มีอสูรตนหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้  มีชื่อว่า กายาสูร(GAYASUR)  แม้จะเป็นอสูรแต่ กายาสูร ก็มีความเคารพ และ บูชาต่อพระวิษณุอย่างเคร่งครัด และ ยาวนานมาก จนเป็นที่โปรดปรานของพระวิษณุ

               กายาสูร ได้ขอให้พระวิษณุประทานพรให้แก่ตนว่า หากใครก็ตามที่สบตากับตน จะทำให้บุคคลนั้น ได้รับบุญ และ กลายเป็นคนดี  ซึ่งผลจากการเป็นคนดีนี้เอง  จะทำให้วิญญาณของบุคคลผู้นั้นจะขึ้นไปสู่สวรรค์หลังจากที่เสียชีวิต


(พญายม ในจินตนาการ – ภาพจากกูเกิ้ล)

ผลจากการนี้  มนุษย์ทุกคนได้ขึ้นสวรรค์กันหมด

               ทำให้พญายม(YAMARAJ)ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะหากโลกนี้มีแต่คนดี มีคุณธรรม  ก็จะมีแต่คนไปสวรรค์  ไม่มีใครไปนรก  ทำให้พญายมจะอยู่ในสภาพตกงาน

พญายมจึงไปทูลต่อ พระวิษณุ ให้ระงับการให้พรนี้แก่ กายาสูร เสีย 

               เหตุผลอีกข้อหนึ่งของกายาสูร ที่น่าสนใจก็คือ หากโลกนี้มีแต่คนดี และ ความดี แล้ว  ในอนาคตจะรู้ได้อย่างไรว่า  ความชั่วคืออะไร

               เป็นปรัชญาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

               พระวิษณุ จึงบอกแก่ กายาสูร ว่าจะระงับการให้พรดังกล่าว  กายาสูรก็ยอมรับ  แต่ขอต่อพระวิษณุว่า   ขอให้ชื่อของเขายังคงอยู่ที่นี่ตลอดไป

               พระวิษณุ จึงให้เรียกสถานที่นี้ว่า เมืองกายา  กายาสูร ก็อันตรธานหายไปกลับไปสู่สวรรค์ และ ร่างของเขาก็กลายเป็นเทือกเขา 4 ลูกที่เรียงรายรอบๆเมืองกายา คือ  เทือกเขา มังคลา-เการี(MANGLA-GAURI) , ชริงกา-ธาน(SHRINGA-STHAN)  ,  ราม-ชิลา(RAM-SHILA) และ  บราห์มาโยนี(BRAHMAYONI)  มีแม่น้ำฟัลกูไหลอยู่ทางด้านทิศตะวันออก

               ชาวฮินดูเชื่อว่า   แม่น้ำฟัลกู เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา

               ในมหากาพย์เรื่อง รามเกียรติ์  ยังระบุว่า  พระราม พระลักษม์ และ นางสีดา เคยเดินทางมาที่แม่น้ำฟัลกู ในเมืองกายา เพื่อทำบุญพินดาน(PINDAN) หรือ ข้าวปั้น ไปให้แก่ ดาชาระถา พระบิดาด้วย

               จึงเป็นเหตุผลทางความเชื่อของชาวฮินดูที่ถือว่า  การทำพิธีทาร์พานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะต้องทำกันที่แม่น้ำฟัลกู เมืองกายา


(ตามปฎิทินจันทรคติแบบไทย วันที่ 22 กันยายน 2564 ตรงกับวันรับตายาย  และวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ตรงกับวันส่งตายาย)

               ที่น่าสนใจก็คือ เทศกาล ปิตรู ปักษา ในอินเดียซึ่งเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือนบาห์ดราปาดา ตรงกับวันที่ 22 กันยายน  มาตรงกับเทศกาลหนึ่งของไทยที่เรียกว่า  วันสาร์ทเดือนสิบของชาวใต้ ที่เริ่มด้วยวันรับตายาย ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10  ในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564 ด้วย

               ส่วนวันส่งตายาย ของไทย ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 จะตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม ก็ตรงกับวันสุดท้ายของเทศกาล ปิตรุ ปักษา ของฮินดูแป๊ะๆ 

               ชาวไทยพุทธโดยเฉพาะชาวใต้ที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูมาค่อนข้างยาวนานมาก  จะทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับในเทศกาลรับตายาย และ ส่งตายายด้วย 

               ในตอนหน้า   ผมจะพูดถึงเหตุผลนอกเหนือจากที่เล่ามาแล้วว่า   ทำไมต้องทำพิธี ทาร์พาน ที่แม่น้ำฟัลกู  และ  ทำไม ชาวฮินดูจึงถือว่า  แม่น้ำคงคงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก 

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .