ซอกซอนตะลอนไป (10 ตุลาคม 2564)
จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน5)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เหตุผลที่ต้องมีเทศกาล ฮันนีมูน หรือ โอเปต ของเทพอามุน-รา กับ มเหสี มุท ก็เพราะ เทพ อามุน-รา ประทับอยู่ที่วิหารคาร์นัค ในขณะที่ เทพีมุท ประทับอยู่ที่วิหารลักซอร์
ทั้งสองวิหารตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์ในเมืองลัคซอร์ ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ (ระยะห่างของวิหารจักกานนาถแห่งปูรี กับวิหารกันดิชา ก็ประมาณ 3 กิโลเมตร) มีถนนศักดิ์สิทธิ์ตัดตรงเชื่อมสองวิหารเข้าด้วยกัน สองข้างถนนดังกล่าวประดับด้วยสฟิงซ์ ทั้งสฟิงซ์หัวคน และ สฟิงซ์หัวแพะ ที่แกะสลักจากหินทรายสีเหลือง (โอกาสหน้า ผมจะเล่าให้ฟังว่า ทำไมเทพอามุน-รา จึงมีศรีษะเป็นแพะ)
เทพอามุน-รา ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดที่ได้รับการเคารพอย่างมากในยุค อาณาจักรกลาง เรื่อยมาจนถึงยุคอาณาจักรใหม่ ส่วนเทพีมุท ได้รับการเคารพในฐานะ “มารดา” คล้ายๆกับแนวคิดเรื่องพระแม่ ต่างๆของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นพระแม่อุมา พระแม่ปาร์วาตี และ พระแม่สรัสวาตี
เทพทั้งสองมีโอรสองค์หนึ่ง คือ คอนซู(KHONSU) เป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ รวมกันเป็นครอบครัวเทพเจ้า 3 องค์ ตามแนวความคิดของมนุษย์ที่ครอบครัวจะประกอบด้วย พ่อแม่ และ ลูก
เลข 3 เป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก เพราะมักจะเชื่อมโยงกับเทพเจ้าของหลายๆศาสนา เช่น ไตรเอกภาพ (TRINITY) ของศาสนาคริสต์ อันประกอบด้วย พระบิดา พระจิต และ พระบุตร หรือ ตรีมูรติ(TRIMURTI) ของศาสนาฮินดู อันประกอบด้วย พระพรหม พระนารายณ์ และ พระศิวะ หรือ ศาสนาพุทธที่ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์
แม้กระทั่ง เทพจักกานนาถ ในขบวนแห่ รถะ ยาตรา ก็ยังปรากฎเป็นเทพ 3 องค์
ด้วยเหตุที่ เทพ อามุน-รา เป็นเทพที่ได้รับการเคารพอย่างมากในยุคอาณาจักรใหม่ เหตุนี้เอง วิหารคาร์นัค ซึ่งเป็นวิหารที่ประทับของเทพอามุน-รา จึงได้รับการบูรณะต่อเติมขยายออกไปเรื่อยๆจนกลายเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฟาโรห์แต่ละพระองค์ต่างก็อยากจะมีส่วนร่วมในการทำบุญสร้างวิหารให้แก่เทพเจ้าที่เขาเคารพ
กระนั้น ก็ยังเป็นวิหารที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์อยู่ดี แม้จนทุกวันนี้
ในส่วนที่เป็นห้องที่ประดิษฐานของเทวรูป (HOLY OF THE HOLY) ของอามุน-รา ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ที่สุด และ น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างยุคสุดท้าย คือ ในสมัยของอเล็กซานเดอร์ มหาราช เมื่อประมาณ 2 พันกว่าปีที่แล้ว ตอนที่อเล็กซานเดอร์ เข้ายึดครองอียิปต์ในปี 332 ก่อนคริสตกาล บนผนังมีภาพสลักบนหินแกรนิตเป็นเหตุการณ์เรื่องราวของเทศกาลโอเปต
ภาพดังกล่าวสอดคล้องกันกับภาพสลักบนหินทรายในวิหารลัคซอร์ ที่ระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ของเทศกาลโอเปตด้วย แต่ปัจจุบันนี้เสียหายมากจนแทบจะมองไม่เห็นแล้ว
รูปสลักดังกล่าวแสดงภาพตอนที่บรรดานักบวช กำลังแบกหามเรือที่ทำด้วยไม้ มีเก๋งปิดมิดชิดอยู่ตรงกลาง สันนิษฐานว่า ภายในเก๋งจะมีรูปสลักที่ทำด้วยทองคำของเทพเจ้าประจำวิหารวางอยู่
ปกติเรือไม้ลำนี้จะวางอยู่บนแท่นบูชาในห้องศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า HOLY OF THE HOLY เปรียบเทียบได้กับห้อง ครรคฤห ของวิหารฮินดู
แท่นบูชา ดังกล่าวทำด้วยหินแกรนิต หินที่มีคุณภาพดีที่สุดของอียิปตโบราณ เป็นธรรมเนียมในยุคนั้นว่า ของที่จะถวายแด่เทพเจ้าจะต้องเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ และ ต้องไม่มีตำหนิ
เทพอามุน-รา กับ มเหสี คือ เทพีมุท ประทับอยู่กันคนละวิหาร ทุกปี ปีละครั้ง นักบวชของวิหารดังกล่าว จะจัดพิธีเฉลิมฉลองการกลับมาอยู่ร่วมกันของเทพเจ้าทั้งสอง เรียกว่าพิธี โอเปต หรือ พิธีฮันนีมูน
ขบวนแห่ที่จะมีบรรดานักบวชช่วยกันหามเรือไม้ เคลื่อนไปพร้อมๆกับบรรดาชนชั้นนำของสังคมอียิปต์จำนวนมาก ระหว่างเดินไป ก็จะร้องรำทำเพลงไปด้วย คล้ายๆกับขบวน รถะ ยาตรา ของ เมืองปูรี รัฐโอดิสสา ทีเดียว
ตามข้อมูลระบุว่า ขบวนแห่จะเดินออกจากห้องศักดิ์สิทธิ์ ตรงออกไปตามถนนสฟิงซ์ ซึ่งจะนำไปสู่ริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำไนล์ในที่สุด
จากนั้น ก็จะนำเรือที่แบกลงไปไว้ในเรือที่จอดเทียบท่าที่แม่น้ำไนล์ แล้วขบวนก็จะเคลื่อนที่ทวนน้ำไปยังวิหารลักซอร์
ส่วนวิธีที่ชาวอียิปต์โบราณเคลื่อนเรือไปตามแม่น้ำไนล์จะเป็นอย่างไร รอติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ
ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ