ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 สิงหาคม 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญอินเดียก็คือ  จะต้องไม่มีใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

               เราจะเห็นว่า  เริ่มตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  หรือที่เรียกว่า MEMBER OF THE LEGISLATIVE ASSEMBLY หรือ  MLA ซึ่งผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละเขตของรัฐ มีวาระในการทำงาน 5 ปี


(ภายในสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เบงกอล ตะวันตก ซึ่งกำลังมีการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่าง พรรค TMC ซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างมาก กับ พรรค BJP ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา)

               จากนั้น  MLA  ก็จะลงคะแนนเลือกตั้ง  บุคคลคนหนึ่งของ MLA  มาทำหน้าที่ หัวหน้าผู้บริหารรัฐ หรือ CHIEF MINISTER ทำหน้าที่เหมือนนายกรัฐมนตรีของประเทศ  และ  มีคณะบริหารที่ร่วมในการบริหารกิจการของรัฐ เหมือนคณะรัฐมนตรี  มีวาระการทำงาน 5 ปีเช่นกัน  

               แน่นอนว่า  ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารรัฐ ก็จะต้องเป็นหัวหน้าพรรค ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากของสภา   

               จากนั้น  MLA  ก็จะเลือกบุคคลที่จะไปทำงานใน วุฒิสภา (RAJYASABHA) ด้วยอัตราส่วน 40 สมาชิก MLA เป็นขั้นต่ำต่อการเลือก วุฒิสมาชิก 1 คน  มีวาระการทำงาน 6 ปี  แต่จะแบ่งกันให้หมดอายุเหลื่อมกันทุกๆ 2 ปี  


(อาคารที่ทำการของ วุฒิสภา ที่กรุงนิวเดลี)

               วุฒิสมาชิกเหล่านี้  จะไปทำงานในวุฒิสภาที่ กรุงเดลี 

               ประชาชนของแต่ละรัฐยังต้องเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกตามจำนวนที่แต่ละรัฐมีสิทธิ์  สส.เหล่านี้จะไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ที่กรุงเดลีอีกเช่นกัน

               สมาชิกสภาผู้แทนฯจะร่วมกันเลือกบุคคลหนึ่ง  ที่อาจจะเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร  หรือ  เป็นสมาชิกของวุฒิสภาก็ได้  มาทำหน้าที่เป็น  นายกรัฐมนตรี มีวาระการทำงาน 5 ปี 

               จากนั้น  3 สภา คือ  สภาผู้แทนราษฎร , วุฒิสภา และ สภานิติบัญญัติของรัฐ (ทุกรัฐ) จะร่วมประชุมกันเพื่อเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี  มีวาระการทำงาน 5 ปี


(เว็บไซต์ ของ ตำแหน่งประธานาธิบดี อินเดีย เป็นตอนที่ ประธานาธิบดี สาบานตนรับตำแหน่งต่อหน้าประธานศาลฎีกา)

               ประธานาธิบดี ก็จะตัดสินใจเลือก 28 บุคคลขึ้นมา  เพื่อทำหน้าที่เป็น ผู้ว่าการรัฐ(GOVERNOR)  ของแต่ละรัฐ  และ  เลือก ผู้ว่าการรัฐลำดับสอง(LIEUTENANT GOVERNOR) เพื่อดูแลดินแดนที่เรียกว่า UNION TERRITORIES  ทั้งสองตำแหน่งจะมีมีวาระการทำงาน 5 ปี   ผู้ว่าการรัฐ และ ผู้ว่าการรัฐลำดับสอง จะต้องไม่ทำงานในรัฐที่ตนเองมีภูมิลำเนา

               ผู้ว่าการรัฐ มีฐานะเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าผู้บริหารรัฐ  ดังนั้น  เขาจึงมีอำนาจที่จะสั่งการให้ สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ หยุดทำงานชั่วคราว  หรือ  ยุบสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้เลย  ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีของรัฐ


(ที่ทำการของศาลสูงของรัฐทมิฬ นาดู ที่เมืองเชนไน ซึ่งเป็นที่ทำการศาลที่เก่าแก่เป็นอันดับสอง รองลงมาจากศาลสูงของกอลกัตตา)

               นอกจากนี้  ผู้ว่าการรัฐฯ ยังร่วมกับประธานาธิบดี ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงของรัฐ(HIGH COURTS) และ ผู้พิพากษาประจำศาลในรัฐด้วย

               ด้วยศักดิ์ศรี ของตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฯ เขาจึงดำรงตำแหน่งอธิการบดี(CHANCELLOR)ของมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ของรัฐ  เพื่อปกป้องการแทรกแซงจากภายนอก   และทำให้ ผู้ว่าการรัฐฯสามารถเข้าตรวจสอบมหาวิทยาลัยใดๆก็ได้โดยตรง

               ถ้าดูจากภาพรวม   ในขณะที่  สภานิติบัญญัติแห่งรัฐทั้ง 28 รัฐ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา (ที่สภานิติบัญญัติแห่งรัฐฯเป็นผู้เลือก) ลงมติเลือกประธานาธิบดี  เพื่อให้ ประธานาธิบดีเลือก ผู้ว่าการรัฐ  และให้ผู้ว่าการรัฐมาควบคุมสภานิติบัญญัติแห่งรัฐฯในท้ายที่สุด

               เหมือนกับวงกลมที่หมุนวนเหมือนงูกินหาง

               มันเป็นแนวคิดบนหลักการที่ว่า  ประชาธิปไตยของอินเดีย จะต้องไม่มีใครมีอำนาจมากๆ เป็นเอกเทศ หรือ เป็นอิสระจนเกินไป   แต่ควรจะต้องมีการถ่วงดุลย์อำนาจกัน

               ที่น่าสนใจก็คือ  ในบางมิติ  ดูเหมือน อินเดียจะเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ   อาจจะมากเกินไปจนสำลักด้วยซ้ำ

               ในสัปดาห์หน้า  ผมจะเล่าให้ฟังเรื่อง  ประชาธิปไตยของอินเดียมากเกินไปรึเปล่า

ยังมีเรื่องสนุกๆอีกเยอะใน “ซอกซอนตะลอนไป”   โปรดติดตามครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .