ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 สิงหาคม 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ประธานาธิบดีของอินเดีย มาจากการร่วมลงมติเลือกของ 3 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร(LOK SABHA) , วุฒิสภา(RAJYA SABHA)  และ  สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ(MLA)  เป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม  ในขณะที่  นายกรัฐมนตรีจะมาจากลงมติเลือกของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง

               แต่ก็มีรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่างกันของที่มาของทั้งสองตำแหน่ง  กล่าวคือ


(นาย เอ พี เจ อับดุล กาลาม ประธานาธิบดี เข้าพบกับนาย มานโมฮาน ซิงก์ เพื่อมอบหนังสือแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนาง โซเนีย คานธี ยืนอยู่ข้างๆ)

               นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นสมาชิกของ สภาผู้แทนราษฎร  หรือไม่ก็ต้องเป็นสมาชิกของวุฒิสภา  อย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่นในกรณีของ  นายก นเรนทรา โมดีนั้น  เขาเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร  ในขณะที่ อดีตนายกรัฐมนตรี มานโมฮาน ซิงก์(MANMOHAN SINGH) กลับไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรมาก่อน


(แม้มิได้มาจากการเป็นผู้แทนราษฎร แต่นายมานโมฮาน ซิงก์ ก็สร้างผลงานในเวทีโลกอย่างโดดเด่น ด้วยการเข้าพบเจรจากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนคือ จอร์จ ดับเบิลยู บุช  และ  บารัค โอบามา)

แต่ขณะนั้น   เขาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2004  หลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งพรรค คองเกรส ของตระกูลคานธี ได้ที่นั่งในสภามากสุด   แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว  พรรคคองเกรส จึงต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสม

ขณะนั้น  หัวหน้าพรรคคองเกรส ก็คือ  นางโซเนีย คานธี(SONIA GANDHI)  ลูกสะใภ้ชาวอิตาเลียนของตระกูลคานธี  โดยหลักการแล้ว  เธอจะต้องเสนอชื่อตัวเองขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านค่อนข้างมาก  เพราะเธอเป็นคนต่างชาติ  นางโซเนีย จึงเสนอชื่อของ มานโมฮาน ซิงก์ ขึ้นเป็นตัวเลือกของพรรคคองเกรส ที่จะให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทนตัวเธอ


(รัฐอัสสัม เป็นรัฐเล็กๆอยู่ทางปลายสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย)

ขณะนั้น  นายมานโมฮาน ซิงก์ มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หากแต่เป็นสมาชิกวุฒิสภาในนามของรัฐอัสสัม(ASSAM)  และเขาเป็นสมาชิกของพรรคคองเกรส

ในที่สุด   สภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติเลือกนายมานโมฮาน ซิงก์  ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคคองเกรส นำเสนอ


(นาย เอ.พี.เจ. อับดุล กาลาม)

ขณะนั้น   นาย เอ พี เจ อับดุล กาลาม(A.P.J ABDUL KARAM) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่

ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานาธิบปดี  นาย เอ.พี.เจ อับดุล กาลาม จึงต้องออกหนังสือรับรองให้  นายมานโมฮาน ซิงก์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ให้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลไม่ในเวลาที่กำหนด  ก็จะต้องเปลี่ยนไปให้แก่พรรคที่ได้ที่นั่งรองลงไปเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทน   หรือไม่ก็ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่

เช่นเมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 1996   นายอาตาล บิหารี วัชปายี(ATAL BIHARI VAJPAYEE) จากพรรค BJP เอาชนะพรรคคองเกรส  ของ ตระกูลคานธี  เป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากที่สุด   แต่ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว

(ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้  เป็นผลมาจากการที่ประชาชนชาวฮินดู ผู้โกรธแค้น บุกทำลายมัสยิด ที่เมืองอโยดยา ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ของผมในฉบับย้อนหลังได้)

ขณะนั้น  นาย ชังการ์ ดายาน ชาร์มา (SHANKAR DAYAN SHARMA) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่  นายวัชปายี เข้าสาบานตนต่อ นาย ชาร์มา เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  และ  ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยของอินเดีย


(นาย อะตาล บิหารี วัชปายี)

วัชปายี พยายามรวบรวมเสียงของพรรคการเมือง และ นักการเมืองหลากหลายพรรคให้มาสนับสนุนเขาในการจัดตั้งรัฐบาล  ทว่า  ดูเหมือนว่า  ข้อเรียกร้อง และ ข้อต่อรองของพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลจะมีมากเกินไป  และ  เป็นเรื่องที่เขารับไม่ได้

ในที่สุดเขาก็เข้าพบกับประธานาธิบดีอีกครั้ง  เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ด้วยเหตุผลว่า   ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆให้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

นายวัชปายี จึงเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียที่อยู่ในตำแหน่งเพียงแค่ 13 วันเท่านั้น  น้อยวันที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย  

หลังจากนั้น   พรรคการเมืองที่เหลือพยายามรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล  ซึ่งแน่นอนว่า  เป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ  เพราะ  พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงรองลงมาเป็นอันดับ 2 คือ พรรคคองเกรส ของ ตระกูลคานธี ปฎิเสธที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย  จึงเหลือเพียงพรรคเล็กพรรคน้อยที่พยายามรวมเสียงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

รัฐบาลผสมปนเป ได้เข้าบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปีค.ศ. 1996  แต่ก็บริหารงานแบบกระท่อนกระแท่น   จนทำให้รัฐบาลล่มสลาย ในวันที่ 21 เมษายน ปีค.ศ. 1997  และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีค.ศ. 1998

การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้   นายวัชปายี ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  แต่การเมืองของอินเดียก็ยังลุ่มๆดอนๆ  เพราะมีหลายพรรคในสภามากเกินไป  เขาอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 13 เดือน ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติ  VOTE OF CONFIDENCE ซึ่งน่าจะเทียบได้กับ  การลงมติไว้วางใจของไทย

วัชปายี  แพ้เสียงการไว้วางใจเพียงเสียงเดียวเท่านั้น  แม้จะเป็นเสียงเดียว  ก็ทำให้เขาหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที  ซึ่งเป็นการยืนยันว่า  อินเดีย มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบสุดๆ ที่เรียกว่า   ประชาธิปไตยจ๋า หรือ TOO MUCH DEMOCRACY  

ซึ่งก็อาจจะมีผลเสียได้บ้างเช่นกัน

หลักการการลงมติไว้วางใจของอินเดีย  จะถือเกณฑ์เกินครึ่งหนึ่งของเสียงของสภา เท่านั้น  ซึ่งล่อแหลมมาก

               ติดตามเรื่อง ระบบประชาธิปไตยของอินเดีย ต่อในสัปดาห์หน้าครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .