ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 กรกฎาคม 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอินเดียก็คือ  จะต้องไม่มีใคร หรือ องค์กรใดที่มีอำนาจสูงสุด  หรือ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว 

แต่จะต้องมีใคร หรือ องค์กรใดคอยคานอำนาจเสมอ

               ในตอนก่อน  ผมได้พูดถึงสภานิติบัญญัติแห่งรัฐฯ ที่เรียกว่า  MLA หรือ MEMBER OF THE LEGISLATIVE ASSEMBLY ซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมาย  และเลือกหัวหน้าผู้บริหารรัฐ (CHIEF MINISTER)


(อาคารสภานิตบัญญัติแห่งรัฐของ กอลกัตตา)

               เนื่องจากระบบการเมืองของอินเดีย ถูกร่างขึ้นตามแบบของระบบการเมืองอังกฤษ  จึงมีรูปแบบโดยรวมเหมือนๆกับของประเทศไทย  ที่ก็ลอกรูปแบบการปกครองจากอังกฤษมาด้วย  

               อินเดียประกอบด้วย 28 รัฐ (STATES) และ 8 ดินแดนปกครองตนเอง(UNION TERRITERIES OF INDIA) แต่ในที่นี้  ผมจะเน้นพูดถึงเฉพาะระดับรัฐเท่านั้น 

               นอกเหนือจากการเลือกตั้งองค์กรนิติบัญญัติของรัฐ และ หัวหน้าผู้บริหารรัฐแล้ว  ประชาชนของแต่ละรัฐ  และ เขตปกครอง ยังสามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปทำงานในเมืองหลวง เพื่อออกกฎหมายบังคับใช้ทั้งประเทศ  และ อาจจะร่วมเป็นผู้บริหารด้วย


(อาคารรัฐสภา เดลี ที่สร้างโดย อังกฤษ)

               สภาผู้แทนราษฎร เรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า โลค ซับบา (LOK SABHA) แปลว่า ที่ประชุมสาธารณะ เพราะ  LOK แปลว่า สาธารณะ (PUBLIC)  มีสมาชิกในขณะนี้ 543 ที่นั่ง  มีวาระในตำแหน่ง 5 ปี

               คำว่า  SABHA น่าจะเป็นที่มาของคำว่า  สภา  ของไทย

               สภาผู้แทนราษฎร 543 คน จะลงมติเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นมา ที่อาจจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ เพื่อดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี(PRIME MINISTER)


(นายกรัฐมนตรี มานโมฮาน ซิงก์ ที่ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)

ในกรณีหลังก็คือ  นายกรัฐมนตรี มาน โมฮานซิงก์ (MANMOHAN SINGH) ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ซึ่งผมจะพูดถึงในตอนต่อไป

               ในกรณีนี้ จะเห็นว่า ทั้ง MLA และ LOK SABHA มีที่มาโดยตรงจากประชาชน  จึงถือว่ามีความสำคัญ และ ศักดิ์สิทธิ์ ในตำแหน่งมาก

               ในเมืองหลวงของอินเดียยังมีอีกสภาหนึ่ง  เรียกว่า  รายาสซับบา(RAJASABHA)  ซึ่งแปลความหมายได้ว่า  ที่ประชุมของรัฐ เพราะ RAJA  เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า  รัฐ หรือ STATE หรืออาจจะเรียกได้อีกอย่างว่า วุฒิสภา

               โลค ซับบา ก็คือ  สภาล่าง  ในขณะที่  รายาสซับบา ก็คือ  สภาสูง นั่นเอง

               สมาชิกของ รายาสซับบา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แบบ โลค ซับบา   แต่มาทางอ้อมผ่านทาง MLA หรือ สภานิติบัญญัติของรัฐ

               โดยที่สภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐฯ จะโหวตเลือกบุคคลใดก็ได้จากภายนอกสภาให้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกของ รายาสซับบา   หลักการก็คือ  รายาสซับบา 1 คน จะมาจาก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ขั้นต่ำ 40 คน รวมตัวกันขึ้นมาเลือก  ซึ่งแน่นอนว่า  จะต้องเลือกคนที่มีชื่อเสียง หรือ คนที่สังกัดพรรคตนเอง

               ยกตัวอย่างกรณีของรัฐเบงกอล ที่เพิ่งเลือกตั้งเสร็จไป  โดยที่พรรค MTC ได้ 217 ที่นั่ง  ในขณะที่พรรค BJP ได้ 75 ที่นั่ง  ดังนั้น  พรรค TMC จะสามารถเลือกสมาชิก รายาสซับบา ได้ 5 คนสูงสุด  เพราะคำนวนจาก 40 คนต่อ 1 คน


(ราม นาถ โกวินท์ ประธานาธิบดี คนปัจจุบันรับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560)

               ที่เหลือ 17 เสียง  ต้องทิ้งไป

               ในขณะที่ พรรค BJP จะได้สามารถเลือกได้เพียง 1 คน  และคะแนนเสียงที่เหลือ 35 เสียงจะต้องทิ้งไป  แต่หาก BJP มีคะแนนเสียงเป็น 80 หรือ 81 ที่นั่ง  ก็จะสามารถเลือกสมาชิก  รายาสซับบา ได้ 2 คน  

               ดังนั้น  สมาชิกของ รายาสซับบา จะไม่เท่ากันทุกครั้ง  แต่จะมีจำนวนไม่เกิน 245 ที่นั่ง และเป็นผู้ที่ถูกเลือกมาจาก สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ หรือ MLA 233 คน  ที่เหลือ 12 คน   จะเปิดทางให้ประธานาธิบดี เป็นคนเลือกเข้ามาตามแต่ใจตัวเอง  โดยจะเลือกจากบุคคลที่มีผลงานโดดเด่นทาง ศิลปะ  วรรณกรรม  วิทยาศาสตร์  และ คนที่ทำงานรับใช้สังคม

               สมาชิก รายาสซับบา จะอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี  แต่วาระของสมาชิกแต่ละคนจะไม่ตรงกัน  กล่าวคือ  จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  แต่ละกลุ่มจะถูกเลือกเข้ามาให้เหลื่อมกัน  2 ปี  

ดังนั้น   จะมีการเลือกสมาชิก รายาสซับบา  ทุกๆ 2 ปี เพื่อทดแทนคนเก่าที่หมดวาระลงไป

               เมื่อมี 3 สภา อันประกอบด้วย สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ,  สภาผู้แทนราษฎร  และ วุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว  สมาชิกทั้ง 3 สภา รวมทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งเขตปกครองตนเอง ที่เรียกว่า UNION TERRITORIES ซึ่งมีจำนวนรวมกันเกือบ 2 พันคน ก็จะลงคะแนนเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะมีวาระ 5 ปี ต่อไป

               ตำแหน่งประธานาธิบดีนี้เอง  ที่จะเป็นคนแต่งตั้ง ผู้ว่าการรัฐฯ (GOVERNOR) ที่มีบทบาทตามที่ผมได้เล่าไปในตอนที่แล้ว

               ระบบประชาธิปไตยของอินเดีย  ยังมีเรื่องสนุกๆน่าติดตามอีกมาก  พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .