ซอกซอนตะลอนไป (23 พฤษภาคม 2564)
อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 7-จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
หากผมจะจบเรื่อง “อามาร์นา ที่น่าพิศวง” โดยไม่พูดถึงรูปสลักที่สวยงามประทับใจและโด่งดังไปทั่วโลกของ มเหสี เนเฟอร์ตีติ บทความชุดนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์
ในขณะที่ รูปสลักของฟาโรห์อัคเคนาเตน มีรูปร่างหน้าตาแปลกๆ รูปสลักของมเหสีเนเฟอร์ตีติ กลับเป็นตัวอย่างที่สวยประณีตงดงาม ของศิลปะยุคอามาร์นาอย่างไม่มีใดเทียบ
ทำไมถึง รูปสลักของฟาโรห์ กับ มเหสี จึงแตกต่างกันมากขนาดนี้ ทั้งๆที่เป็นผลงานที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน
เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่สรุปได้
รูปสลักของเนเฟอร์ตีติ ถูก ลุดวิก บอร์ชาร์ด (LUDWIG BORCHARD) นักโบราณคดีชาวเยอรมันค้นพบภายในบ้านหลังหนึ่งที่ค่อนข้างเสียหายมากภายในเมืองโบราณ อัคเคเตเตน หรือ เมืองอามาร์นา ในปีค.ศ. 1912 ก่อนหน้าการค้นพบสุสานของฟาโรห์ ตุตอังอามุน ในหุบผากษัตริย์ ถึง 10 ปี
จากนั้น พวกเยอรมันก็ขนเอารูปสลักนี้ พร้อมด้วยรูปสลักเล็กๆน้อยๆอีกจำนวนมาก กลับไปยังประเทศของตัวเอง และยังอยู่ที่นั่นจนทุกวันนี้
และดูเหมือนว่า เยอรมันจะไม่ยอมคืนรูปสลักนี้ให้แก่อียิปต์อย่างแน่นอน ไม่ว่าอียิปต์จะเรียกร้องอย่างไรก็ตาม เพราะมันช่างสวยงามเหลือเกิน สวยงามกว่ารูปสลักใดๆที่อียิปต์โบราณเคยสร้างมา
แล้วใครเป็นผู้รังสรรค์งานอันประณีตงดงามชิ้นนี้
จากหลักฐานสำคัญที่นักโบราณคดีชาวเยอรมันค้นพบภายในบ้านหลังนั้นก็คือ หน้ากากบังตาของม้าที่ทำด้วยงาช้าง พร้อมกับมีชื่อ ธุทโมส (THUTMOSE) หรือ ธุทโมเซ สลักเอาไว้ด้วย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชื่อของผู้สร้างงานชิ้นนั้น
นอกจากชื่อแล้ว ยังระบุตำแหน่งงานของธุทโมส เอาไว้ด้วยว่าเป็น ปฎิมากร
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บอกว่า ธุทโมส น่าจะมีชื่อเสียงมากในราวปี 1350 ก่อนคริสตกาล และเชื่อว่า เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ปฎิมากรของราชสำนักอย่างเป็นทางการ” ของฟาโรห์ อัคเคนาเตน ในช่วงปลายของรัชสมัยของพระองค์
ภายในบ้านหลังที่มีการค้นพบรูปสลักของเนเฟอร์ตีตินั้น ยังพบหลักฐานอื่นๆอีกมากมาย เช่น รูปสลัก รูปหล่อ ที่เป็นผลงานของปฎิมากรเจ้าของบ้านทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น รูปสลักที่แกะจากหินแกรนิต ใบหน้าของพระนางเนเฟอร์ตีติ , รูปสลักใบหน้าของฟาโรห์อาเมนโฮเทป ที่ 3
หรือแม้กระทั่ง รูปสลักเต็มตัวแบบลอยองค์ทำจากหินปูน ของพระนางเนเฟอร์ตีติ ด้วย
เขาจึงสรุปยืนยันว่า บ้านหลังนั้นก็คือบ้านของนายช่างปฎิมากรของราชสำนักที่ชื่อ ธุทโมส แน่นอน
นอกจากนี้ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1996 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ที่นำโดย อแลง ซิวีย์ (ALAIN ZIVIE) ได้ค้นพบสุสานที่เมืองซัคคารา ที่อยู่ใกล้กับพีระมิดแบบขั้นบันได อันเป็นสุสานที่ฝังศพของอียิปต์โบราณมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเก่าแล้ว
สุสานที่อแลง ค้นพบนั้น คำนวนอายุว่าน่าจะสร้างอยู่ในช่วง 1350 – 1330 ปีก่อนคริสตกาล คือหลังยุคอามาร์นา เพียงเล็กน้อย
ช่วงเวลาของสุสานดังกล่าว สอดคล้องต้องกันกับช่วงเวลาของรัชสมัยของฟาโรห์อัคเคนาเตน
ปัจจุบัน รูปสลักของพระนาง เนเฟอร์ตีติ และ รูปสลักชิ้นเล็กชิ้นน้อยทั้งหมดถูกจัดแสดงอยู่ใน พิพิทภัณฑ์ใหม่ (NEUES MUSEUM)ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันมี
หลังจาก อัคเคนาเตน สิ้นพระชนม์เมื่อครองราชได้ 17 ปี ศาสนาที่เคารพต่อเทพอะเตนของพระองค์ก็ถูกปฎิเสธจากฟาโรห์องค์ต่อๆมา แล้วฟื้นฟูศาสนาที่นับถือพระเจ้าจำนวนมากกลับมาดังเดิม
แม้แต่โอรสของ อัคเคนาเตน เอง ก็ยังต้องเปลี่ยนชื่อจาก ตุตอังอาเมน มาเป็น ตุตอังอามอน เพื่อแสดงถึงการเคารพต่อเทพอามุน อีกครั้ง
ผมขอจบเรื่องเล่า “อามาร์นาที่น่าพิศวง” ลงเพียงแค่นี้ครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ ซึ่งจะขอเปลี่ยนบรรยากาศของท่านผู้อ่านไปทำ “ไวน์ เทสติ้ง” และ “บรั่นดี เทสติง” ครับ
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ