อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 เมษายน 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสน  และ  โต้แย้งกันในหมู่นักวิชาการว่า  อาเมนโฮเทป ที่ 4 ได้ครองราชร่วมกับฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 3 พระบิดาของพระองค์ในช่วงปลายรัชสมัยหรือไม่  เพราะแนวคิดแยกออกเป็นสองฝ่าย

               พวกหนึ่งบอกว่า   ทั้งสองเคยครองราชร่วมกันเป็นเวลาประมาณ 12 ปี   แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า  ไม่น่าจะเคยครองราชร่วมกันเลย   แต่หากจะมี  ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆไม่เกิน 2 ปี 

               แต่สุดท้าย   ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2014   กระทรวงโบราณวัตถุของอียิปต์(EGYPTIAN MINISTRY FOR ANTIQUITIES) ก็ประกาศโดยอ้างถึงหลักฐานจารึกที่นักโบราณคดีชาวสเปนขุดค้นขึ้นมาจากสุสานของ ผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรแห่งแคว้นคุช  ที่มีชื่อ  อาเมนโฮเทป ฮาย(AMENHOTEP-HUY) 


(อาเมนโฮเทป-ฮาย  ผู้ซึ่งเคยทำงานรับใช้ ฟาโรห์อัคเคนนาเตน เรื่อยมาจนถึงฟาโรห์ ตุตอังห์อามุน)

               อาเมนโฮเทป-ฮาย เคยเป็นสำเร็จราชการต่างพระเนตรของฟาโรห์ ตุตันคามุน  และ เคยทำงานรับใช้ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ด้วย

               หลักฐานดังกล่าวยืนยันว่า  พ่อลูกคู่นี้  เคยครองราชร่วมกันอย่างน้อยที่สุด 8 ปี   หรือ  อาจจะสูงสุดถึง 12 ปี 

               ก็น่าจะสรุปได้ว่า  ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกคงจะใกล้ชิดกันพอสมควร

               แต่หลังจากอาเมนโฮเทป ที่ 3 สิ้นพระชนม์  อาเมนโฮเทป ที่ 4 ก็ขึ้นครองราชต่อมา  และ ยังประทับอยู่ที่เมืองธีบส์ 

ทันที่ที่ขึ้นครองราช  พระองค์ก็โปรดให้ประดับประดาประตูทางเข้าวิหารทางทิศใต้ของวิหารคาร์นัค ที่เมืองลักซอร์เสียใหม่  โดยให้แกะสลักเป็นภาพของพระองค์กำลังทำการบูชาเทพเจ้า รา-ฮอรัคตี (RE-HORAKHTY)


(เทพ รา-ฮอรัคห์ตี นั่งอยู่บนบัลลังก์)

               รา-ฮอรัคตี เป็นอีกรูปหนึ่งของ เทพเจ้ารา  คือ เป็นส่วนผสมของเทพเจ้ารา กับ เทพฮอรัส   และเช่นเดียวกับ  เทพอามุน-รา  ที่เป็นส่วนผสมของเทพเจ้ารา  กับ  เทพอามุน ซึ่งเป็นเทพท้องถิ่นของเมืองลักซอร์ในอดีต

               หลังจากเป็นฟาโรห์ร่วมกับบิดามานานหลายปี   อาเมนโฮเทป ที่ 4 ก็ขึ้นครองราชเป็นฟาโรห์เดี่ยวในเวลาต่อมา  หลังจากบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ 

               ช่วง 4 ปีแรกของการขึ้นครองราช  อาเมนโฮเทป ที่ 4 ยังเป็นฟาโรห์ปกติตามประเพณีของอียิปต์โบราณ  และ ประทับอยู่ที่เมืองธีบส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวง   จนถึงปีที่ 5 ของการขึ้นครองราช  แนวคิดของพระองค์ในเรื่องศาสนาก็เปลี่ยนแปลงไป

               พระองค์โปรดให้สร้างวิหารเพื่อถวายแด่เทพอะเตน ขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของวิหารคาร์นัค  นักวิชาการเรียกรวมกันว่า  วิหารของอาเมนโฮเทป ที่ 4  หรือ เกมปาเตน(GEMPAATEN)  ที่มีความหมายว่า  “เทพอะเตนสามารถประจักษ์ได้ในวิหารของเทพอะเตน”


(ฟาโรห์ อัคเคนาเตน และ มเหสี เนเฟอร์ตีติ กำลังทำพิธีบูชาต่อเทพ อะเตน ที่มีลักษณะกลมเหมือนดวงอาทิตย์)

               เทพอะเตน (ATEN) คืออะไร

               อันที่จริง   หลักการของเทพอะเตน  ก็ไม่ต่างไปจากแนวคิดทางศาสนาเดิมเท่าไหร่นัก  เพราะอะเตน มีรูปลักษณ์ของวงกลมแบน  คล้ายพระอาทิตย์ มีรัศมี หรือ แสงส่องออกไปทั่วทุกด้าน  แสงของอะเตน จะมีรูปร่างเหมือนแขนที่ยื่นออกไป และมีมืออยู่ตรงปลาย


(เทพอะเตน)

               อาจไม่ต่างจากแนวคิดของเทพเจ้ารา เท่าใดนัก   เพียงแต่ แนวคิดของอัคเคนาเตน เน้นที่การเคารพต่อแสงของอะเตน   มิใช่ตัวเทพอะเตน

               นักวิชาการบางคนบอกว่า  อาเมนโฮเทป ที่ 4 ได้ออกคำสั่งให้ทำลายภาพสลักของเทพอามุน และ เทพเจ้าองค์อื่นๆของศาสนาอียิปต์โบราณทิ้งเสีย  และ สั่งให้หันมานับถือ อะเตนแต่เพียงอย่างเดียว

               เป็นการเปลี่ยนแนวคิดแบบนับถือเทพเจ้าหลายองค์(POLYTHEISM)   มาสู่การเคารพเทพเจ้าเพียงองค์เดียว (MONOTHEISM)  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตรของอียิปต์โบราณ

               การเปลี่ยนความเชื่อเรื่องศาสนาในครั้งนี้  มีความรุนแรงเหมือนการเขย่าแผ่นดินอียิปต์  เพราะนอกจากประชาชนอาจจะเกิดความสับสนแล้ว   ในแวดวงของพิธีกรรมภายในราชสำนัก  ยังเกิดความโกลาหลอีกด้วย

               โกลาหลเพราะ  นักบวชผู้ทำพิธีในวิหารต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หัวหน้านักบวชประจำวิหารของเทพอามุน-รา เกิดความไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง  ว่าจะดำเนินไปในแนวทางไหน

               ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำที่รุนแรงปานสึนามิ ขึ้นมาได้

               จะรุนแรงอย่างไร  รอติดตามอ่านได้ในสัปดาห์หน้าครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .