การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 กุมภาพันธ์ 2564)

การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ภาพพจน์ของประเทศอินเดีย ในสายตาของคนไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ  นอกจากเรื่องความอ่อนด้อยทางด้านสุขอนามัยแล้ว  บางครั้ง  คนไทยก็ยังคิดว่า คนอินเดียด้อยในเรื่องสติปัญญา  และ  เรื่องการศึกษา อีกด้วย

               ทั้งที่ความเป็นจริง  การศึกษาของอินเดียไปไกลกว่าประเทศไทยอย่างมาก  จนทิ้งไทยจนไม่เห็นฝุ่น

               ผมมีเพื่อนสนิทเป็นไกด์ท้องถิ่นของเมืองกอลกัตตา คือ Mr.SWAPAN GANGULY  หลังจากพูดคุยกันอยู่นานหลายเดือน   จึงได้ทราบถึงระบบการศึกษาของกอลกัตตา และ อินเดีย  ผ่านทางการศึกษาของลูกสาวของเขาที่ชื่อ ANUSHKA ซึ่งเพิ่งเรียนจบชั้น ป 3 ในโรงเรียนกึ่งรัฐบาลแห่งหนึ่ง คือ CHRIST CHURCH GIRLS HIGH SCHOOL เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว


(การ์ดอวยพร ที่ ANUSHKA ทำให้ผม ในเทศกาลดิวาลี)

               โรงเรียนแห่งนี้  ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1882 หรือประมาณ 138 ปีที่แล้ว ในสมัยที่อังกฤษยึดครองอินเดีย  เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานสูง  และปัจจุบัน  มีนักเรียนจากต่างประเทศหลายประเทศมาเรียน  เช่น อเมริกา และ ยุโรป


(ตัวอาคารโรงเรียนที่สร้างในแบบอังกฤษ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1882)

               หลังจากที่ผมได้พูดคุยกับพ่อของเธอเป็นเวลานาน  ANUSHKA ก็บอกพ่อของเธอว่า  เธออยากจะสนทนากับผมด้วย

               ผมนึกในใจว่า  เด็กนักเรียนชั้น ป 3 อายุ 10 ขวบจะคุยกันทาง LINE โดยไม่เห็นหน้าค่าตา  และ  ภาษามือให้เข้าใจได้อย่างไร


(นักเรียนโรงเรียน CHRIST CHURCH GIRLS HIGH SCHOOL กำลังเดินพาเหรด)

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การคุยด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของเธอ

               แล้ววันหนึ่ง  ผมก็ได้สนทนากับเธอทางโทรศัพท์  ต้องยอมรับว่า อดรู้สึกแปลกใจอย่างสุดๆไม่ได้  เมื่อเธอสามารถสนทนาโต้ตอบได้อย่างเข้าใจทุกคำพูด  และ สามารถตั้งคำถามต่อผมด้วย  รวมทั้งยังพูดเชิญชวนให้ผมไปเที่ยวบ้านของเธอ  โดยที่เธอรับปากว่าจะทำอาหารเช้าที่เธอทานเป็นประจำก็คือ โรตี และ ซับจี ให้ผมทาน


(โรตี และ ซับจี เป็นอาหารเช้ายอดนิยมของครอบครัวชาวอินเดีย  เพราะทำง่าย และมีประโยชน์)

               นี่คือเด็กนักเรียนชั้นประถม 3 ของอินเดีย

               บังเอิญเมื่อปลายปีที่แล้ว  เธอจะต้องสอบไล่ชั้น ป 3   แต่เนื่องจากเป็นช่วงไวรัส โควิด 19 ระบาด  เธอจึงต้องเรียนทางออนไลน์ และ  สอบทางออนไลน์ด้วย

               พ่อของเธอเอาข้อสอบให้ผมดู   ซึ่งเมื่อได้เห็นข้อสอบของเด็ก ป 3 ของอินเดีย  ทำให้ผมคิดว่า  การศึกษาของเราล้าหลังกว่าของอินเดียมากนัก  ทั้งในแง่ของเนื้อหา  การสอน   และ  การสอบด้วยภาษาอังกฤษ


(ตัวอย่างข้อสอบวิชา COMPUTER STUDY ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านจะสามารถอ่านได้นะครับ)

               ผมขอเอาตัวอย่างข้อสอบบางข้อมาให้ดูในวิชา  COMPUTER STUDY จะช่วยทำให้เราเข้าใจได้ว่า   ทำไม  อินเดียจึงมีความโดดเด่นในเรื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าใครในเอเชีย

               มีคำถามที่น่าสนใจหลายข้อ  เช่น  Which two commands rotate the turtle’s head , write the function of  a) Graphic screen   b) Input box

               คำถามนี้  ผมเองก็ไม่สามารถตอบได้  


(ข้อสอบวิชา วิทยาศาสตร์)

               ที่น่าสนใจก็คือ   วิชาวิทยาศาสตร์  ที่ให้นักเรียนอธิบายความแตกต่างกัน ระหว่าง Breeze  และ Storm ในคำตอบเพียงหนึ่งประโยค

               เป็นการตอบคำถามวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมีภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานที่ลึกซึ้งพอสมควร


(ข้อสอบวิชา ภาษาอังกฤษ)

               ไม่ต้องพูดถึงวิชาภาษาอังกฤษ  ซึ่งน่าจะเป็นการให้เด็กๆตอบคำถามจากบทความที่ครูมอบให้  คำถามคือ Who wrote the poem “A lesson” ? What message did the poet convey through the poem ?

               น่าทึ่งจริงๆสำหรับข้อสอบของ ป. 3


(ข้อสอบวิชา VALUE EDUCATION)

               อีกวิชาหนึ่งที่เรียกว่า  VALUE EDUCATION  ผมไม่แน่ใจว่าจะตรงกับวิชาอะไรในเมืองไทย  ข้อสอบน่าจะเป็นการให้นักเรียนอ่านบทความบทหนึ่งแล้วตอบคำถาม  เช่น  Where did the mother bird make her nest ?. What did you learn from the story , “The mother bird and her young ones”

               แม้ว่า  ข้อสอบหลายข้อจะเป็นการตอบแบบ “ปรนัย” คือ เลือกหัวข้อคำตอบ  แต่ก็มีข้อสอบจำนวนมากทีเดียวที่ให้ตอบแบบ “อัตนัย”   คือให้บรรยายความเป็นประโยค

               ที่สำคัญก็คือ  ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษ

               นี่คือ  ข้อสอบของนักเรียน ป 3 ของอินเดียครับ  ผมยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการศึกษาของอินเดียมาเล่าให้ฟังครับ  พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .