แม้แต่เทพเจ้าฮินดู ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 มกราคม 2564)

แม้แต่เทพเจ้าฮินดู ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน4-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               คัมซา (KAMSA) ลุงฝ่ายมารดา หมายจะสังหารพระกฤษณะตั้งแต่เกิด  (แต่ไม่สำเร็จ)  เพราะเชื่อคำพยากรณ์ที่ว่า  พระกฤษณะ  ลูกคนที่ 8 ของเดวากี จะสังหารเขา

               ท้ายที่สุด  เมื่อพระกฤษณะ เติบใหญ่ขึ้น ก็กลับมาสังหารคัมซาได้สำเร็จ  หลังจากนั้น  ก็ได้ย้ายไปสร้างเมืองใหม่ริมชายฝั่งทะเลอาหรับ ด้านตะวันตกของประเทศอินเดีย ปัจจุบันนี้อยู่ในรัฐกุจาราฐ   พระกฤษณะ เรียกชื่อเมืองนี้ว่า  ดูวาร์กา  หรือ  ทวารกา  แปลว่า  ประตู

               ซึ่งน่าจะเป็นต้นธารของคำว่า  อาณาจักร “ทวาราวดี” ของไทย


(ที่ตั้งของเมือง ดูวาร์กา ของ พระกฤษณะ อยู่ในรัฐกุจาราฐ)

               แม้ว่าเมืองดวาร์กา จะจมลงสู่ใต้ทะเลแล้ว  แต่ การค้นพบทางโบราณคดี ของ แผนกโบราณคดีของรัฐกุจาราฐ ได้พบสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าเป็นพระราชวังของพระกฤษณะจมอยู่ใต้ทะเล  ทำให้ความเชื่อในเรื่องเมืองดูวาร์กา และ เรื่องราวของพระกฤษณะ ดูเป็นจริงมากขึ้น


(เมืองดูวาร์กา ของพระกฤษณะ ที่จมอยู่ใต้ทะเลอาหรับ – ภาพจาก สำรวจโลก)

               ปัจจุบัน  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 4 แห่ง ตั้งอยู่บนทิศทั้งสี่ อันเป็นที่เคารพของชาวฮินดูในอินเดียที่เรียกว่า ชาร์ธรรม ก็มี เมืองดูวาร์กา อยู่ในสี่แห่งนี้ด้วย


(ชาร์ ธรรม สถานที่แสวงบุญสำคัญ 4 แห่งของชาวฮินดู)

               ตำนานกล่าวว่า  วันหนึ่ง พระกฤษณะ รู้สึกเบื่อในทางโลก จึงต้องการละทิ้งชีวิตที่วุ่นวาย  เข้าไปอยู่ในป่า ตามแนวทาง 4 ระดับของคำสอนของศาสนาฮินดู 

               และ  อาจจะเป็นการตัดสินใจชดใช้บาปกรรมที่เคยทำเอาไว้ให้จบสิ้น  แล้วละทิ้งโลกนี้ไป เพื่อกลับไปสู่ดินแดนอมตะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยตลอดกาล

               ด้วยวิธีการนั่งสมาธิ แบบที่เรียกว่า   มหาสมาธิ  ตามแบบของฮินดู  ซึ่ง สวามี วิเวก อนันดา ปราชญ์อีกคนหนึ่งของอินเดียเคยทำมาแล้ว  ซึ่งผมจะเขียนในตอนต่อไป 

               พระกฤษณะ เดินทางยังจุดที่เรียกว่า วัลกา  แล้วก็เพลิดเพลินกับนั่งห้อยเท้าบนกิ่งไม้ใหญ่ในต้นไม้ที่หนาทึบ  และ บรรเลงเพลงด้วยขลุ่ยเลาโปรดอย่างเพลิดเพลิน   เสียงเพลงที่บรรเลงออกไปว่ากันว่า  มีความไพเราะอย่างยิ่ง ราวกับเสียงขับขานของสกุณาแห่งสวรรค์

               แล้วนายพราน  จารา(JARA)  ก็โผล่ออกมาตามสัญญาที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ในอดีตชาติ  พร้อมด้วยธนูในมือ  จารา เดินตามเสียงอันไพเราะของขลุ่ย  เพราะคิดว่าเป็นเสียงร้องของสกุณาสวรรค์ 


(พระกฤษณะ กับ ระธา(RADHA) มเหสี)

               พระกฤษณะ มีผิวกายสีม่วงฟ้า คล้ายผลไม้ที่เรียกว่า JAMBUL  และ ฝ่าเท้าเป็นสีแดง  เมื่อนายพรานจารา มองขึ้นไปตามเสียงขลุ่ย ก็เห็นเท้าของพระกฤษณะโผล่ออกมาจากกิ่งไม้  ประกอบกับเสียงขลุ่ยที่ไพเราะ จึงคิดว่า  เป็นนกสวรรค์   จึงยิงธนูออกไป โดนจุดสำคัญจนพระกฤษณะบาดเจ็บสาหัส

               บางข้อมูลบอกว่า  นายพรานจารา คิดว่าพระกฤษณะ เป็นกวาง จึงยิงธนูออกไป


(ภาพจากตำนานที่ระบุว่า  นายพราน จารา ยิงธนูใส่พระกฤษณะ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นกวาง – จากวิกิพีเดีย)

               เมื่อนายพรานจารา รู้ว่ายิงถูกคน  ก็พยายามจะหาคนมาช่วย  พระกฤษณะบอกว่า  อย่าเดือดร้อนไปเลย  พระองค์ให้อภัยต่อจารา มิได้ถือโทษโกรธแต่อย่างใด 

               “จารา   อย่าตกใจไปเลย    ท่านคือพาลี ในชาติที่แล้ว ที่ถูกข้าซึ่งตอนนั้นก็คือ พระราม ในอวตารของพระวิษณุ สังหาร   ตอนนี้  ข้าได้ชดใช้ให้แก่ท่านแล้วตามความปรารถนาของข้าเอง”

               จากนั้น  พระกฤษณะ ก็ละจากโลกนี้ไป ทิ้งสังขารอันเป็นอวตารของพระวิษณุเอาไว้ในโลกมนุษย์   ดวงจิตล่องลอยสู่เทพยสถาน อันเป็นที่อยู่ตลอดไปของพระองค์


(วัลกา สถานที่ที่พระกฤษณะ ถูก จารา ยิงด้วยธนู จนสิ้นพระชนม์)

               ปัจจุบันนี้  สถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระกฤษณะ ถูกนายพรานจาราสังหาร นั้นเรียกว่า วัลกา(BHALKA) ใกล้วิหาร โสมนาถ(SOMNATH TEMPLE) อยู่ในรัฐกุจาราฐ  เป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญมากของชาวฮินดูอีกแห่งหนึ่ง


(วิหารโสมนาถ ในรัฐกุจาราฐ)

               จากการสืบค้นด้วยตำแหน่งดวงดาว  ทำให้รู้ว่าพระรามประสูติ ในวันที่ 10 มกราคม เมื่อ 5114 ปีก่อนคริสตกาล เวลาประมาณ 12.30 น.  หรือเมื่อประมาณ 7 พันปีที่แล้ว อยู่ในยุค ดวาพารา ซึ่งเป็นยุคที่ 2

               เชื่อกันว่า  พระกฤษณะ ประสูติในราวปี 3228 ก่อนคริสตกาล  ซึ่งเป็นช่วงปลายของยุค ดวาพารา(DVAPARA YUGA)  และกำลังจะเข้าสู่ยุค กาลี (KALI YUGA) (และเชื่อกันว่า  ยุคกาลี ก็คือ ยุคสมัยในปัจจุบัน)  ข้ออ้างอิงสามารถพบได้ในหนังสือตำนานของฮินดู  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมหากาพย์ มหาภารตะ (MAHABHARATA)

               ตามคัมภีร์ปุราณะระบุว่า  พระกฤษณะ ละทิ้งอวตารไปนั้น  ตรงกับวันที่ 17 หรือ 18 กุมภาพันธ์ ปี 3102 ก่อนคริสตกาล  ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคดวาพารา  และ เข้าสู่ยุคกาลี 

               นับอายุของพระกฤษณะ ได้ 126 ปี

               กรรม หนีไม่พ้น  ไม่ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไหร่  และไม่ว่าจะเป็นมนุษย์  หรือ เทพเจ้า  ก็หนีกฎข้อนี้ไม่ได้

               สัปดาห์หน้า  ผมจะพูดถึง สวามี วิเวกอนันดา บุคคลอัจฉริยะของศาสนาฮินดู  พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .