แม้แต่เทพเจ้าฮินดู ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 มกราคม 2564)

แม้แต่เทพเจ้าฮินดู ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนที่จะสิ้นชีพจากธนูของพระราม  พาลีได้พูดกับพระรามหลายเรื่อง

               พาลี ถามว่า “สุครีพ ได้ทำให้ภรรยาของข้าเป็นหม้าย  และ  ขโมยอาณาจักรของข้าไป  นี่เป็นอาชญากรรม หรือความผิด หรือไม่”


(พาลี ถูกศรของพระราม  มีสุครีพยืนอยู่ข้างๆ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               พระราม ตอบว่า  “ต่อน้องชายของท่าน  ท่านจะต้องปฎิบัติกับเขาเช่นลูกชายของท่าน   แม้ว่าเขาจะได้กระทำความผิด  ท่านต้องให้อภัยแก่เขา   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อเขาได้ให้สัญญาแก่ท่านแล้วว่า  เขาจะเคารพท่านไปตลอดจนชีวิตจะหาไม่”

               พาลีถามว่า  “แม้ว่า   ข้าจะได้กระทำผิด ก่ออาชญากรรมต่อน้องของข้า   แต่ท่านมีสิทธิ์อะไรที่จะมาสังหารข้า”

               พระรามตอบว่า 

“ข้าได้รับอนุญาตจาก กษัตริย์ ภารตะ(KING BHARATA) ให้เป็นผู้แพร่ความถูกต้องเป็นธรรมให้กว้างไกลออกไป  และ ให้จัดการลงโทษต่อพวกกระทำการที่เลวร้าย”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  สาเหตุส่วนหนึ่งของการตายของพาลีก็มาจากที่เขาได้สัญญาว่า  หากเขาผิดสัญญาในเรื่องนางทารา  ก็ขอให้เขาตายด้วยคมธนูของพระวิษณุ 

และ พระราม ก็คือ  อวตารที่ 7 ของพระวิษณุ ที่เกิดอยู่ในยุค เทรต้า(TRETA YUGA)  ซึ่งถือเป็นยุคที่ 2 ต่อจาก สัตยา ยุค (SATYA YUGA) ตามตำนานความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่แบ่งยุคของโลกออกเป็น 4 ยุคใหญ่ๆด้วยกัน   คือ   สัตยา ยุค ,  เทรตา ยุค , วาพารา ยุค (DVAPARA YUGA)  และ  กลี ยุค (KALI YUGA)

หลังจากพาลีตายไป  เรื่องราวของรามเกียรติ์ ก็ดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระราม และ พวกสามารถตามไปเอาตัวนางสีดากลับคืนจากทศกัณฐ์ได้   ซึ่งผมจะไม่พูดถึงในบทความนี้

กาลเวลาผ่านไป  จากยุคเทรค้า  ก็มาถึงยุคที่ 3 คือ  ยุควาพารา  

ณ.เมืองมธุรา(MATHURA)  มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในราชวงศ์ ยาดาวา(YADAVA DYNASTY)


(เมืองมธุรา ในรัฐอุตตรา ประเทศ)

เด็กชายคนนี้มีลักษณะผิวพรรณที่โดดเด่น คือ มีสีดำ หรือ น้ำเงินแก่ ซึ่งต่อมาเด็กชายคนนี้ ถูกเรียกชื่อว่า  กฤษณะ(KRISHNA) ซึ่งเป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า  ดำ หรือ สีน้ำเงินเข้ม  หรือ สีมืดๆ  และยังมีความหมายว่า  ผู้มีเสน่ห์อย่างมาก

นอกจากนี้  ในภาษาโหราศาสตร์ฮินดู  ยังเรียกช่วงเวลาตั้งแต่ แรม 1 ค่ำเรื่อยไปจนถึงแรม 15 ค่ำประมาณร่วม 15 วันว่า  กฤษณะปักษ์  ที่มีความหมายว่า (ช่วงเวลา)ที่กำลังจะมืด


(พระกฤษณะ ตอนเด็ก – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ชีวิตตอนเด็กของพระกฤษณะ ค่อนข้างจะทุกข์เวทนามาก  เพราะถือกำเนิดในคุก  ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิด ไปเป็นเด็กเลี้ยงวัว  ภาพของพระกฤษณะ จึงมักจะปรากฎคู่กับวัว หรือ  ลูกวัว เสมอ

เนื่องจากพระกฤษณะ เป็นเด็กสนุกสนาน  ซุกซน  ขี้เล่น  ชอบล้อเล่นแกล้งเพื่อน จึงมีชื่อเรียกว่า มัคหาน ชอร์(MAKHAN CHOR) ที่แปลว่า  โจรขโมยเนย


(ด้วยความซน  รักสนุก และ ชอบเล่นแผลงๆ  จึงทำให้พระกฤษณะ ได้รับฉายาว่า โจรขโมยเนย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

(ผมจะเล่าเรื่องของพระกฤษณะในรายละเอียด ในโอกาสหน้าครับ)

นอกจากนี้  พระกฤษณะยังได้รับฉายาว่า  ผู้ขโมยหัวใจของผู้คน  เพราะความเป็นคนน่ารัก  ใส่ใจต่อคนอื่นๆ   ทำให้ภาพที่ปรากฎของพระกฤษณะ มักจะห้อมล้อมไปด้วยผู้หญิง


(ความเป็นที่รักของคนอื่น  และ ความมีเสน่ห์  ทำให้พระกฤษณะ มักจะถูกล้อมรอยด้วยสาวๆ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ลักษณะประจำของพระกฤษณะ ก็คือ  มักจะมีขลุ่ยอินเดียที่เรียกว่า บานสุรี (BANSURI) ติดตัวอยู่เสมอ  และมักจะเป่าบรรเลงเพลงอยู่ริมแม่น้ำ ยมุนา ที่ไหลผ่านเมืองมธุรา


(พระกฤษณะ เป่าขลุ่ยริมแม่น้ำยมุนา)

ว่ากันว่า   เพลงที่บรรเลงด้วยขลุ่ยของพระกฤษณะ ช่างมีความหวานแหวว และ ไพเราะอย่างยิ่ง  ราวกับเสียงขับขานของวิหคจากสวรรค์เลยทีเดียว 

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .