ซอกซอนตะลอนไป (22 พฤศจิกายน 2563)
เทศกาลดิวาลี(ตอน 2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ดิวาลี เป็นเทศกาลแห่งตะเกียงไฟ และ เทศกาลแห่งความสุข เฉลิมฉลองกันนาน 5 วันด้วยกัน
วันแรกของเทศกาล เรียกว่า ดานเทอราส(DHANTERAS) ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ หรือ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 (เทอราส เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า 13) ทำให้วันดิวาลี หรือ ลักษมี ปูจา อันเป็นวันสำคัญที่สุดของเทศกาลนี้ ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน และเป็นวันแรม 15 ค่ำด้วย (บางปฎิทินกำหนดให้วันดิวาลี ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน)
คำว่า ดาน (DHAN) เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ทรัพย์สิน หรือ ความมั่งคั่ง
ชาวฮินดูจะเริ่มด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือน ที่ทำงาน หรือร้านขายของของตนเอง การทำความสะอาดนี้ ถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในการเริ่มต้นปี
ซึ่งตรงกับแนวคิดของชาวจีน ที่จะต้องทำความสะอาดบ้านเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ห้องครัว และ เตาไฟ ก่อนวันตรุษจีน ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นศิริมงคลของครอบครัว และ ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต
จากนั้นก็จัดวาง ดิยา (DIYA) หรือ ตะเกียงดินเผาที่ใช้น้ำมันหรือเนยเป็นเชื้อเพลิง วางตามระเบียงทางเดิน เป็นแถวเป็นแนว หรือ วางเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อเป็นการต้อนรับพระแม่ลักษมี เทพีแห่ง ความมั่งคั่ง และ ความรุ่งเรือง และ พระพิฆเณศวร เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ และ ภูมิปัญญา
ผู้หญิงและเด็ก จะช่วยกันแต่งแต้มทางเดินเข้าบ้านให้สวยงามด้วยผงแป้งสี หรือ ผงทรายสีทำเป็นลวดลายต่างๆ เรียกว่า รังโกลิ(RANGOLI) ในขณะที่ผู้ชาย เด็กชายจะช่วยกันตกแต่งบ้าน กำแพงบ้าน ให้สวยงาม
วันดานเทอรัส ถือเป็นวันหลักของการช้อปปิ้ง ผู้คนออกไปหาซื้อข้าวของ เครื่องใช้ๆต่างๆ หรือ อัญมณีประเภททองคำ เป็นต้น แต่เนื่องจากทองคำมีราคาแพงมาก จึงอนุโลมให้ซื้อของอื่นๆที่ทำด้วยโลหะเข้าบ้านก็ได้ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน
เชื่อกันว่า หากซื้อของพวกโลหะเหล่านี้เข้าบ้านในช่วงเวลาที่เป็นมงคล เหมือนกับซื้อของในช่วงที่ฤกษ์ดีทำนองนั้น ก็จะทำให้ชีวิตครอบครัวประสบความเจริญรุ่งเรือง
ตอนเย็น ทั้งครอบครัวจะทำการบูชาพระแม่ลักษมี และ พระพิฆเณศวร พร้อมด้วยการถวายอาหารต่างๆ โดยเฉพาะของหวานที่เรียกว่า มิไทย
วัน ดานเทอราส ยังมีความสำคัญตามความเชื่อของชาวฮินดูอีกว่า ถือเป็นวันประสูติของพระแม่ลักษมี ที่ถือกำเนิดขึ้นจากผลของการกวนเกษียรสมุทรในทะเลน้ำนม ของเหล่าบรรดาเทพเจ้า กับ บรรดาอสูร
วันที่สองของเทศกาลดิวาลี เรียกว่า นะระกะ จตุรดาสี (NARAKA CHATURDASI) ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ คำว่า จตุรดาสี แปลว่า 14
ส่วนคำว่า นะระกะ(NARAKA) แปลว่า นรก ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า เซิร์ก (SWARG) ที่แปลว่าสวรรค์
หลักคิดของศาสนาฮินดู เชื่อว่า เมื่อมนุษย์ตายไปจะมีทางเลือก 2 ทางคือ ไปสวรรค์ หรือ ไปนรก ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลผู้นั้นได้ทำความดี หรือ ความชั่วเอาไว้ในตอนที่มีชีวิตอยู่
หากทำความดีก็จะได้ไปสวรรค์ หรือ ไปนิพพาน(NIRVANA)
ศาสนาฮินดูได้รับอิทธิพลเรื่องนิพพานนี้ไปจากศาสนาพุทธ และเชื่อว่า หากดวงวิญญาณไปสู่นิพพาน ก็จะทำให้ดวงวิญญาณของผู้ตายมีความสงบ มีความสุข
แต่หากดวงวิญญาณไป นรก ก็จะกลายเป็น บูท (BHOOT) คือดวงวิญญาณที่ไม่มีความสงบ และทุกข์ยากลำบาก และจะต้องกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในโลกมนุษย์
ในวันนี้ ชาวฮินดูจะจุดตะเกียงภายในบ้าน เพื่อว่า หากดวงวิญญาณของบรรพบุรุษของเขาที่ยังเป็น บูท กลับมาที่บ้าน ก็จะได้เห็นว่า บ้านของตนเองยังอยู่ดี สมาชิกยังมีความสุข และ ได้รับผลบุญจากการบูชาของบรรดาลูกหลาน
นอกจากนี้ สำหรับวิญญาณเร่ร่อนต่างๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากดวงไฟตะเกียงที่วางประดับไปตามถนนหนทาง วิหาร ในเมือง เพื่อว่าวิญญาณเหล่านี้จะสามารถมองเห็นทางเดินของตัวเองที่จะเดินไปข้างหน้าในโลกหลังความตายได้
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า เป็นวันแห่งการปลดปล่อยดวงวิญญาณให้หลุดพ้นจากการทนทุกข์ทรมานใน “นรก” อีกด้วย
จะว่าไป ก็คล้ายๆกับวันสาร์ทจีนเดือน 7 หรือ วันส่งตายายในเดือน 10 ของไทยเหมือนกัน
เรื่องราวของวัน นะระกะ จตุรดาสี ยังไม่จบ รออ่านต่อในสัปดาห์หน้านะครับ
สวัสดีครับ