เทศกาลนวราตรี(ตอน4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 พฤศจิกายน 2563)

เทศกาลนวราตรี(ตอน4-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เทศกาล นวราตรี สำหรับชาวฮินดู ในภาคเหนือของอินเดีย เช่น รัฐเบงกอลตะวันตก  รัฐโอดิสสา  รัฐอัสสัม และ รัฐพิหาร  จะให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้ค่อนข้างมาก  เมื่อเปรียบเทียบกับชาวภาคใต้  มากจนประหนึ่งว่าจะเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่เลยทีเดียว

               เพราะทางเหนือ  นอกจากเฉลิมฉลองพระแม่ทุรคาแล้ว   ก็เพิ่มการเฉลิมฉลองพระรามตอนเด็ก  พระแม่สรัสวาตี  และ ฉลองชัยชนะของพระรามที่มีต่อทศกัณฐ์ ด้วย  ในขณะที่ทางใต้ จะเพิ่มการเฉลิมฉลองให้แก่เทพและเทพีอีกหลายองค์   เช่น  พระราม  พระแม่สรัสวาตี  พระแม่ลักษมี  ,  พระพิฆเณศวร  กราติเกยา  ,  พระศิวะ  และ  พระกฤษณะ  เข้าไป  ขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละพื้นที่


(ช่างฝีมือ ขึ้นรูปด้วยกิ่งไม้และฝางหญ้าก่อนที่จะหุ้มด้วยดินเหนียว)

               แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน  หลักการของมันก็คือ  เพื่อฉลองชัยชนะของความดี ที่มีเหนือความชั่ว  หรือ  ธรรมะ ชนะ อธรรม  

               ชาวฮินดูทางภาคเหนือ  จะเริ่มด้วยการซื้อหาเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แก่ภรรยา และ ลูกๆของตัวเอง   เพื่อเตรียมใส่ในช่วงเทศกาล   จำนวนชุดที่ซื้อก็มักจะเท่ากับจำนวนวันของเทศกาล  เพื่อใช้เปลี่ยนวันละชุด

               ในขณะที่หากเป็นชาวฮินดูภาคใต้   เขามักจะนิยมซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แก่ครอบครัวในช่วงเทศกาล ดิวาลี ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากสิ้นสุดเทศกาล นวราตรีไปแล้ว 20 วัน

               ประเพณีอย่างหนึ่งของชาวฮินดูก็คือ  การสร้างหุ่นของเทพ  หรือ อสูร ที่เกี่ยวเนื่องในเทศกาลขึ้นมา  หุ่นที่ว่านี้  จะทำด้วยโครงที่สร้างจากวัสดุทางการเกษตร  เช่น  กิ่งไม้ และ เศษฟาง  แล้วหุ้มด้วยดินเหนียว  ขึ้นเป็นรูปที่ต้องการ

               นี่คือเหตุผลที่เทศกาลนวราตรีที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือ นวราตรีในฤดูใบไม้ร่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว

               หลังจากนั้น  ก็รอให้ดินเหนียวแห้ง  แล้วลงสีให้สวยงาม  ประดับประดาด้วยวัตถุที่มีความแวววาว  บางครั้งก็จะมีการปิดทองด้วยซ้ำ   เป็นอันเสร็จสิ้น  


(รูปปั้นของพระแม่ทุรคา หลังจากปั้นและลงสีเรียบร้อยแล้ว )

               จากนั้น ก็จะเอารูปเหมือนของเทพเหล่านี้ไปไว้ในอาคารชั่วคราวที่มักจะสร้างด้วยวัสดุทางการเกษตรอีกเช่นกันที่เรียกว่า  พานดาล (PANDAL)


(พานดัล  แม้จะเป็นอาคารชั่วคราว  แต่ก็สร้างใหญ่โตพอสมควร  มีพื้นที่ภายในขนาดใหญ่พอที่จะให้ผู้คนเข้าไปสักการะพระแม่ได้เป็นจำนวนมากพร้อมกัน)

               ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองนี้  จะมีกิจกรรมต่างๆมากมาย  การท่องบทสวดมนต์ต่างๆ   การแสดงและการเต้นระบำถวายเทพหรือเทพี ,  การให้ของขวัญแก่สมาชิกในครอบครัว  การมีงานเลี้ยงใหญ่ๆ   และ ในทางตรงกันข้าม   ก็มีการอดอาหารในรูปแบบของการถือศีลด้วยสำหรับบางคน

               และที่ขาดไม่ได้ก็คือ   การปฎิบัติธรรม  หรือ  การนั่งสมาธิในช่วงเวลา 10 วันของเทศกาล ควบคู่ไปกับการอดอาหารด้วย   

               บางคน หรือ บางครอบครัว อาจจะตั้งปณิธาน  หรือ  วางเป้าหมายของชีวิตต่อไปในอนาคตว่า  เขาจะทำอะไรที่เป็นเรื่องดีๆ  คล้ายกับที่เราคนไทยตั้งปณิธานว่าในวันส่งท้ายปีเก่าว่า   ปีหน้าเราจะทำอะไรที่ดีๆ  มีคุณธรรม  มีจริยธรรม เหล่านี้เป็นต้น  

               บางคนตั้งปณิธานเพียงเรื่องเดียว   แต่บางคนอาจจะตั้งปณิธาน 9 เรื่อง ในแต่ละคืนของ นวราตรี ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคน

               จนกระทั่ง 9 คืนผ่านไป   มาถึงวันที่ 10  ก็จะเป็นพิธีปิดฉากการเฉลิมฉลองเทศกาลนวราตรี ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกัน 

สำหรับในภาคเหนือของอินเดียที่เฉลิมฉลองเพียงแค่ 4 วัน 3 คืน จะเรียกวันสุดท้ายนี้ว่า วิจายาดาซามิ (VIJAYADASAMI) ซึ่งเป็นภาษาเบงกอล   แต่ภาคใต้ของประเทศที่เฉลิมฉลอง 9 คืน 10 วัน จะเรียกว่า  ดัสเซรา (DUSSERA) ซึ่งเป็นภาษาฮินดี

แต่เป็นอันรู้กันในหมู่ชาวอินเดียว่า   ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรก็ได้ ตามความชอบของตนเอง   ทั้งสองชื่อต่างมีความหมายเดียวกัน  คือ  การเฉลิมฉลองชัยชนะในวันที่สิบ (วิจายา แปลว่า  ชัยชนะ ,  ดาซามิ  ก็แปลว่า 10)


(พิธี บิซาร์จัน นำรูปเคารพของพระแม่ทุรคา ลงไปลอยในแม่น้ำคงคา ที่เมือง กอลกัตตา)

               จากนั้นก็จะถึงพิธี บิซาร์จัน(BISARJAN) หรือ พิธีลอยรูปเคารพของพระแม่ทุรคาในแม่น้ำ หรือ ทะเล หรือ ทะเลสาบ  แม้ว่ารูปเคารพเหล่านี้จะสร้างด้วยกิ่งไม้ และ ดินเหนียว  แต่หลังจากลอยลงไปในน้ำแล้ว  เขาก็จะนำกลับขึ้นมาบนฝั่ง  เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  

               แม้ว่า ชาวอินเดียจะประกอบพิธี บิซาร์จัน ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563  แต่ตามปฎิทิน ปัญจาง ของฮินดูระบุว่า  ฤกษ์ในการประกอบพิธี บิซาร์จัน จะอยู่ที่กลางคืนของคืนวันที่ 25 ตุลาคม แล้ว   แต่ก็อนุโลมให้ต่อเวลามาจนกระทั่งถึงวันที่ 26 ตุลาคมด้วย  เพื่อความสะดวก

               ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ  เทศกาล นวราตรี ของอินเดีย  มักจะอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ เทศกาลถือศีลกินเจ ของประเทศไทย  อาจจะแตกต่างกันบ้างก็วันหรือสองวัน   ทั้งนี้   เพราะต่างก็ใช้ปฎิทินจันทรคติในการกำหนดวันด้วยกันทั้งคู่

               นอกเหนือไปจากนั้น  ในวันสุดท้ายของเทศกาลถือศีลกินเจ  ก็มีพิธีการแห่เจ้าพ่อ หรือ เจ้าแม่ ไปลอยลงแม่น้ำหรือทะเล  เช่น เทพเจ้ากิวอ๋องไต่เต ที่จังหวัดตรัง ที่ผมบังเอิญได้เห็นข่าวทางโทรทัศน์  และ  ที่จังหวัด สมุทรปราการเป็นต้น

               ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของประเพณี วัฒนธรรม  ความเชื่อ  ของศาสนาพุทธ และ  ศาสนาฮินดูอย่างแยกกันไม่ออก


(ภาพโพสการ์ด ผลงานการวาดของสาวน้อย ANUSHKA ลูกสาววัย 10 ขวบของ MR.SWAPAN GANGULY ไกด์คนเก่งของผม วาดส่งมาอวยพรให้ผมเนื่องในเทศกาล DUSSEHRA  ในภาพจะเป็นพระรามกำลังแผลงศรเข้าไปสังหาร ทศกัณฐ์ ตรงปลายลูกศรคือเปลวไฟที่จะเผาทำลายความชั่วร้ายต่างๆ )

               ผมขอจบเรื่องเทศกาล ยิ่งใหญ่ของอินเดียที่เรียกว่า  นวราตรี เอาไว้เพียงแค่นี้  หวังว่าท่านผู้อ่านจะสนุกสนานในการอ่านและได้ความรู้ในเรื่องศาสนาฮินดูไปบ้างตามสมควร

               สัปดาห์หน้า   ผมจะเขียนถึงเทศกาลที่ยิ่งใหญ่มากอีกเทศกาลหนึ่ง  เรียกว่า  เทศกาล ดิวาลี

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอินเดียกับผม หลังจากจบการระบาดของโควิด 19 กรุณาติดต่อผมทางเบอร์ 088 578 6666

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า   สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .