คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 กันยายน 2563)

คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนจะพูดเรื่องคดีฟ้องร้องแห่งอโยดยาต่อ   ผมขอตัดมาพูดถึงเรื่องของ พระราม ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญที่ได้รับการเคารพนับถือมากที่สุดองค์หนึ่งของฮินดู  และเป็นตัวละครหลักในมหากาพย์  “รามเกียรติ์” หรือ  รามายณะ เสียก่อน


(ฤษี วาลมิกิ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ผู้รจนา “รามายณะ” ก็คือ ฤษี วาลมิกิ (VALMIKI)ซึ่งเขียนเป็นโศลก 24,000 โศลก และมี 840,002 ตัวอักษร มีความยาวเพียงหนึ่งในสี่ ของมหากาพย์ มหาภารตะยุทธ   แต่มีความยาวเป็นสี่เท่าของ  มหากาพย์ ELIAD  หรือ มหากาพย์เรื่อง  สงครามแห่งทรอย

               ฤษี วาลมิกิ รจนามหากาพย์นี้ในช่วงศตวรรษที่ 5 ถึง ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล  หรือ ประมาณ 2 พันปีเศษที่แล้ว 


(หนุมาน พบกับ พระราม และ พระลักษณ์ ในป่า – ภาพจาก THE TELEGRAPH)

               เรื่องรามเกียรติ์ ก็อย่างที่เราๆท่านๆได้รู้มาแล้ว ก็คือ  พระราม และ พระลักษณ์  ด้วยความช่วยเหลือของ หนุมาน กับพลพรรค ออกเดินทางไปชิงตัวนางสีดากลับจากกรุงลงกา ของ ทศกัณฐ์ 

               ตามความเชื่อของชาวฮินดู   พระราม เป็นอวตาร์ที่ 7 ของพระวิษณุ  ชาวฮินดูจำนวนมากให้ความเคารพนับถือ และได้สร้างวิหารอุทิศถวายแด่พระรามมาช้านานแล้ว

               มีคำถาม หรือ ข้อโต้แย้งมากมายว่า  แท้ที่จริงแล้ว พระราม เป็นเพียงเรื่องเล่า  หรือ  ประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริง  ผมจึงลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ รามเกียรติ์ และ  พระราม มาให้ได้อ่าน และตัดสินใจกัน

               วรรณคดีศาสนาฮินดูระบุว่า  พระรามมีชีวิตอยู่ในยุค เทรตา (TRETA YUGA) ซึ่งเป็นยุคที่ 2 จากทั้งหมด 4 ยุคของโลกตามความเชื่อของฮินดู  ทั้ง 4 ยุคประกอบด้วย  สัตยา ยุค(SATYA YUGA) หรือ กริตา ยุค(KRITA YUGA)  , เทรตา ยุค ,  ดวาพะรา ยุค(DVAPARA YUGA)  และ  กาลี ยุค(KALI YUGA) 

               (สนใจอ่านเรื่องยุคต่างๆของฮินดู สามารถเข้าไปอ่านได้ที่  www.whiteelephanttravel.co.th  แล้วกดไปที่  blog  แล้วไปที่   ซอกซอนตะลอนไป  จะอยู่ในบทความ “ท่องไปในโลกฮินดู ตอนที่ 5”)

               เทรตา ยุค มีอายุประมาณ 1 ล้านปีเศษตามเวลาของโลกมนุษย์   ซึ่งเป็นความเชื่อตามแนวศาสนาฮินดู  ที่แตกต่างไปจากเวลาที่คำนวนจากหลักฐานบันทึก

               ในมุมของคนที่เชื่อว่า  พระราม มีตัวตนจริง อ้างถึงโศลกของวาลมิกิ ว่า พระรามประสูติในวันที่ 9 หลังวันจันทร์ดับ ที่เรียกว่า NEW MOON หรือ วันขึ้น 9 ค่ำ  โหราศาสตร์ฮินดูเรียกว่า ศุกขละ ปักษ์(SHUKLA PAKSHA) ในเดือนชัยทรา(CHAITRA)  ตามปฎิทินฮินดูซึ่งเป็นปฎิทินแบบจันทรคติถือว่าเป็นเดือนแรกของปี  จะตกอยู่ในราวเดือนมีนาคม หรือ เมษายน ตามปฎิทินสากล

               และอาจจะมีข้อมูลอื่นมากกว่านี้  ซึ่งผมจะไม่นำมาพูดในที่นี้ 

               แต่การจะหาวันเกิดที่แท้จริงของพระรามเป็นเรื่องยาก  เพราะจะต้องคำนวนหาจุดของดวงดาวบนท้องฟ้าให้ตรงกับเวลาที่ระบุในโศลกของ วาลมิกิ  จึงต้องอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากๆ

               ด้วยความช่วยเหลือขององค์การนาซา ก็พบว่า  วันที่พระรามประสูติ จะตรงกับวันที่ 10 มกราคม เมื่อ 5114 ปีก่อนคริสตกาล เวลาประมาณ 12.30 น.  หรือเมื่อประมาณ 7 พันปีที่แล้ว

               เมื่อผูกดวงของพระรามขึ้นมาก็พบว่า  อาทิตย์(๑)อยู่ในราศีเมษ , อังคาร(๓)อยู่ในราศีมังกร , เสาร์(๗) อยู่ในราศีตุลย์ , พฤหัส(๕)อยู่ร่วมกับ จันทร์(๒)ในราศีกรกฎ  , ศุกร์(๖) อยู่ในราศีมีน  ลัคนาอยู่ราศีกรกฎ


(วาลมิกิ แสดงภาพให้เห็นว่า พระรามเป็นผู้มีเมตตากับทุกๆชีวิต แม้แต่สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งตรงกับดวงในจักราศีของพระราม  แต่บทจะร้าย พระรามก็ร้ายได้มากเหมือนกัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ในที่นี้   เขาไม่ได้ระบุว่า  ดาวพุธ(๔) อยู่ราศีใด   แต่คาดเดาว่า  น่าจะอยู่ในราศีใดราศีหนึ่งจาก  3 ราศี คือ  ราศีมีนร่วมกับศุกร์(๖)  , ราศีเมษร่วมกับอาทิตย์(๑) หรือไม่ก็อยู่ในราศีพฤษภ  เพราะ พุธ(๔) เป็นดาวเคราะห์วงใน  จะต้องอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์(๑) ไม่เกิน 28 องศา

               จะเห็นว่า  ดวงดาวในจักราศีของพระราม  มีดาวอุจจ์อยู่ 4 ดวงด้วยกันคือ  อาทิตย์(๑)  พฤหัส(๕)  ศุกร์(๖) และ อังคาร(๓)  ส่วนดาวจันทร์(๒) ได้ตำแหน่งเป็นเกษตร 


(ดวงชะตาของพระรามโดยประมาณ ประสูติวันที่ 10 มกราคม เมื่อ 5114 ปีก่อนคริสตกาล เวลาประมาณ 12.30 น.)

               ถือว่า  เป็นดวงชะตาที่ดีมากดวงหนึ่ง  แต่ก็มีจุดเสีย  เช่น  เสาร์(๗)พักร์เล็งอาทิตย์(๑) เป็นเกณฑ์กับ จันทร์(๒)พฤหัส(๕)    


(หนุมาน พบกันนางสีดา เมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 5076 ก่อนคริสตกาล – ภาพจาก THE TELEGRAPH)

               นอกจากนี้  จากการสืบค้นย้อนหลังจากโศกของวาลมิกิ ก็ทำให้เขารู้ว่า  หนุมานเดินทางไปถึงกรุงลงกา และไปพบกันนางสีดาในสวน อโศก วาติกา (ASHOK VATIKA) เมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 5076 ก่อนคริสตกาล  

               และมีรายละเอียดอีกมากมายจากฝ่ายที่เชื่อว่าพระรามมีตัวจนจริงๆ


(พระกฤษณะ กับ อรุณ ในสนามรบที่ทุ่งคุรุเกษตร ในมหากาพย์เรื่อง มหาภารตะยุทธ์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หลังจากจบ เทรตา ยุค แล้วก็ถึงยุค ดวาพาระ ที่พระวิษณุ อวตาร์ลงมาเป็นพระกฤษณะ และ มีบทบาทในเรื่อง มหาภารตะยุทธ  หลักฐานบันทึกระบุว่า  สงครามมหาภารตะ เริ่มขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม ปี 3139 ก่อนคริสตกาล  

               ซึ่งแตกต่างไปจากความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ระบุว่า  ยุคดวาพารา มีอายุประมาณ 86000 ปี และ กาลียุค มีอายุ 430000 ปี   แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะเชื่อแบบไหน

               แต่ที่สำคัญก็คือ ยุคสุดท้ายตามความเชื่อของฮินดูก็คือ  ยุคกาลี  ซึ่งก็คือ  วันนี้  เวลานี้ ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .