ซอกซอนตะลอนไป (30 สิงหาคม 2563)
คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
น่าแปลกว่า มนุษย์มักนิยมสร้างศาสนสถาน ไว้ตรงจุดที่เคยเป็นที่ตั้งของศาสนสถานก่อนหน้า
หลายวิหารของอียิปต์โบราณ สร้างบนจุดที่เคยเป็นที่ตั้งของวิหารยุคก่อน บ้างก็ทำลายอาคารเก่าลงแล้วสร้างอาคารใหม่ บ้างก็สร้างของใหม่ทับลงไปในอาคารเก่า
เมืองคอร์โดบา ของสเปน มีโบสถ์คริสต์ในศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ตรงกลางของ สุเหร่าของอิสลามที่สร้างในศตวรรษที่ 8 และทั้งสองอาคารก็ตั้งอยู่บนโบสถ์คริตสต์ที่สร้างในยุคก่อนหน้านั้นด้วย
ไว้โอกาสหน้า จะเขียนเรื่องนี้ให้อ่านเล่นกันครับ
เรื่องที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ เป็นผลมาแต่การสร้างสุเหร่า บาบริ ของอิสลามในเมือง อโยดยา บนที่ตั้งของศาสนสถานเดิมของฮินดู
ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะ ชาวฮินดูเชื่อว่า ตรงจุดที่ตั้งของสุเหร่า บาบริ ที่สร้างโดยจักรพรรดิบาเบอร์ แห่งราชวงศ์โมกุล ก็คือ สถานที่ประสูติของพระราม ตัวละครเอกของมหากาพย์รามเกียรติ์
ในปีค.ศ. 1846 อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียผ่านทางบริษัท อีสต์ อินเดีย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายต่อชาวฮินดูของอังกฤษ ผ่อนปรนลงมากกว่าในสมัยของ ราชวงศ์โมกุล
ต่อมา กลุ่มที่เรียกว่า นีร์โมฮี อัคฮารา (NIRMOHI AKHARA)ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของศาสนาฮินดูที่นับถือพระรามเป็นหลัก เข้าอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว สร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายมุสลิมจนเกิดการปะทะกันในปีค.ศ. 1855 แต่ไม่รุนแรงนัก
ปัญหาเริ่มตั้งเค้า
อีก 4 ปีต่อมาคือ ปีค.ศ. 1859 อังกฤษต้องวางแนวรั้วกันพื้นที่ระหว่าง ตัวอาคารสุเหร่า กับ ลานกว้างด้านนอก เพื่อกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายที่มาประกอบพิธีทางศาสนาที่นี่ปะทะกัน แต่ก็ยังมีฮึ่มๆใส่กันเสมอๆ
ปีค.ศ. 1885 มาฮานต์ รากูเบอร์ ดาส ได้ยื่นคำร้องต่อศาลประจำเมือง ไฟซาบาด เพื่อขออนุญาตสร้างศาลเจ้าเล็กๆขึ้นหลังหนึ่งบนพื้นที่ด้านนอกพื้นที่ที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิม และ ฮินดู
เป็นการเริ่มต้นในการขอคืนพื้นที่ ที่เป็นสถานที่ประสูติของพระรามในอย่างเป็นทางการในทางกฎหมาย แต่ศาลปฎิเสธคำร้อง
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการก้าวย่างแรกในการขอคืนสถานที่ประสูติของพระรามอย่างเป็นทางการ เพราะหลังจากนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ทางกฎหมายเป็นระยะๆ
วันที่ 15 สิงหาคมปี ค.ศ. 1947 อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ชาวฮินดูเริ่มการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมหนักแน่นอีกครั้ง แต่ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ปากีสถาน แยกประเทศออกจากอินเดีย และตัวประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่ออินเดีย เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนชาวมุสลิม และ ฮินดูอย่างกว้างขวางไปเกือบทั้งประเทศ สร้างความความเกลียดชังระหว่างคนจากทั้งสองศาสนา จนเกิดปะทะกัน และ ทำร้ายกันตามแนวพรมแดนหลายต่อหลายจุด
ยิ่งทำให้ความขัดแย้งกรณีการทวงคืนที่ดินสถานที่เกิดของพระรามของชาวฮินดู กับ มุสลิม ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดหนักเข้าไปอีก
ปีค.ศ. 1948 ศาลท้องถิ่นของ ไฟซาบาด ตัดสินใจสั่งให้สุเหร่าบาบริ เป็นพื้นพิพาททางกฎหมาย และสั่งให้ล็อคประตูทางเข้าสุเหร่าเสีย เพื่อห้ามทุกฝ่ายเข้าไปใช้อาคารสุเหร่า
นอกจากนี้ ยังสั่งให้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน คอยเฝ้าประตูเป็นผลัดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้คนหนึ่งเป็นชาวมุสลิม และอีกคนเป็นชาวฮินดู เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น
แต่แล้ว กลางคืนระหว่างวันที่ 22 – 23 ธันวาคม ปีค.ศ. 1949 มีผู้ลักลอบเอารูปสลักของ พระราม ตอนเด็ก ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่เขานับถือไปวางไว้ในสุเหร่า ไม่มีใครรู้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด แต่ทุกคนก็ชี้เป้าไปที่ พรรคการเมือง ฮินดู มหาซับฮา (THE HINDU MAHASABHA) ที่มีสัญลักษณ์เป็นธงสีเหลืองส้ม (SUFFRON) ว่าเป็นคนทำ
เพราะพรรคการเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นมา เมื่อปีค.ศ. 1915 เพื่อช่วยปกป้องและพิทักษ์ผลประโยชน์ของชุมชนชาวฮินดู หลังจากที่ชาวมุสลิมได้ก่อตั้ง พรรคการเมืองที่เรียกว่า สหพันธ์ชาวมุสลิมอินเดียทั้งมวล (ALL-INDIA MUSLIN LEAGUE) ขึ้นในปีค.ศ. 1906
เรียกว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน กันทีเดียว
การเอารูปเคารพของศาสนาอื่นมาวางในสุเหร่าของมุสลิม ถือเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อสุเหร่าเป็นอย่างยิ่ง
ผลตามมาก็คือ มีการฟ้องร้องต่อกันในศาลจากทั้งสองพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่ออ้างสิทธิในผืนดินผืนนี้
เรื่องไม่จบง่ายๆแน่นอน แต่สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร รอติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ