ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 พฤษภาคม 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ทำไม  พระพรหม จึงมี 4 หน้า   และ  ทำไม  พระพรหม จึงไม่ได้รับการบูชาจากชาวฮินดู เท่ากับ พระวิษณุ และ  พระศิวะ

               สัปดาห์ที่แล้ว  ผมพูดถึงวิหารสำคัญสำหรับ 4 ยุคของโลก ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่เรียกว่า  ชาร์ ดาห์ม  ตั้งอยู่ตามภูมิภาคทั้ง 4 ของอินเดีย   คือ  ทิศเหนือ  ทิศใต้   ทิศตะวันตก  และ ทิศตะวันออก เรียงตามลำดับของยุค  คือ  สัตยายุค , เทรตา ยุค  ,  ดวาร์พารา  และ  ยุคกาลี

               4 วิหารดังกล่าว  อุทิศถวายแด่ พระวิษณุ 2 หลัง  อุทิศถวายแด่พระกฤษณะ ซึ่งก็คือ  อวตารหนึ่งของพระวิษณุ 1 หลัง  และ  อุทิศถวายแด่ พระศิวะ 1 หลัง 


(พระศิวะ  เทพที่ได้รับการเคารพบูชา มากในอินเดีย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               จะเห็นว่า  ในกลุ่มตรีมูรติ  คือ เทพเจ้าหลัก 3 องค์ของฮินดู คือ พระพรหม  พระวิษณุ  และ  พระศิวะ เทพเจ้าองค์หนึ่งที่ไม่มีวิหารของตัวเองอยู่ในบรรดา 4 วิหารหลักนี้ ก็คือ  พระพรหม

               และไม่ใช่เฉพาะ วิหารสำคัญ 4 หลังนี้เท่านั้น   แต่เป็นทั้งประเทศอินเดีย 

คำถามก็คือ  ทำไม  พระพรหม จึงไม่ได้รับความนิยมจากชาวฮินดูส่วนใหญ่

               เรื่องนี้  ไม่ปรากฎบันทึกทั้งในคัมภีร์ปุราณะ  และ  คัมภีร์พระเวท  จึงน่าจะเชื่อว่า  เรื่องที่ผมจะเล่าต่อจากนี้   น่าจะเป็นตำนานที่เล่าขานกันในภายหลัง

               อันที่จริง  ตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้  มีด้วยกัน 3 เรื่อง


(พระวิษณุ เทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชา มากพอๆกับพระศิวะ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เรื่องแรก   ครั้งหนึ่ง  พระวิษณุ โต้เถียงกับ พระพรหม ว่า  ใครคือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด  แต่ตกลงกันไม่ได้  จึงพากันไปหาพระศิวะ  เพื่อให้ช่วยตัดสินว่า  ใครเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกันแน่

               พระศิวะ จึงเปลี่ยนร่างเป็น ลึงก์ ที่มีขนาดใหญ่มาก  ปลายด้านโคนฝังลึกลงไปในดิน  ปลายอีกด้านชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า  แล้วพระศิวะก็ถามเทพทั้งสองว่า  ปลายทั้งสองด้านอยู่ไกลแค่ไหน

               พระวิษณุ แปลงกายเป็นหมูป่า มุดลงไปในดินเพื่อจะหาส่วนโคน   ส่วนพระพรหม แปลงร่างเป็นหงส์ บินขึ้นไปบนฟ้า  เพื่อหาปลายสุดของศิวะลึงก์  

               แม้ว่า  เทพทั้งสองจะพยายามอย่างสุดความสามารถก็ตาม  แต่ก็ไม่อาจไปให้ถึงปลายสุดของ ศิวะลึงก์ได้  


(พระพรหม -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               พระพรหม เมื่อบินขึ้นมาบนท้องฟ้า  ก็ได้พบกับดอกไม้ของต้น เคตคี(KETKI)    ร่วงลงมาจากบนฟ้า  พระพรหม จึงถามดอกไม้นั้นว่า   เจ้าร่วงลงมาจากที่ใด

เมื่อผมลองค้นคว้าดู ก็พบว่า  เคตคี คือต้นแพนดาลุสนั่นเอง


(ต้นแพนดาลุส)

               ดอกไม้ตอบว่า  ร่วงลงมาจากยอดของศิวะลึงก์ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาสำคัญที่สุดสำหรับผู้เคารพพระศิวะอย่างสูงสุด

               เมื่อทั้งสองเทพกลับลงมาเจอพระศิวะ  พระวิษณุ ยอมรับว่า  ไม่อาจไปถึงโคนของศิวะลึงก์ได้   ขอยอมแพ้   แต่พระพรหม โกหพระศิวะว่า  ได้เดินทางไปถึงปลายยอดของศิวะลึงก์เรียบร้อยแล้ว  โดยนำดอกไม้ดังกล่าวมาให้พระศิวะดู เพื่อเป็นการยืนยัน 


(ผลของต้นแพนดาลุส)

               พระศิวะ รู้ว่า  พระพรหม โกหก จึงโกรธพระพรหมอย่างยิ่ง  และได้สาปแช่งพระพรหม ไม่ให้ได้รับการบูชาจากมนุษย์อีกต่อไป 

               พระศิวะ  ยังได้สาปต่อไปอีกว่า  ไม่ให้มนุษย์ใช้ดอกไม้ในการบูชาใดๆ เพื่อสักการะแด่เทพเจ้าองค์ใดๆบนโลกนี้ 

               นี่คือเรื่องเล่าเรื่องที่หนึ่ง   ที่เป็นสาเหตุที่พระพรหมไม่ค่อยได้รับการเคารพกราบไหว้จากชาวฮินดู   ซึ่งเป็นตำนานที่มีการต่อเติมเสริมแต่งเพื่อให้เรื่องราวมีที่มาที่ไป และ มีความน่าเชื่อถือ

               สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย ในหลายเส้นทางกับผม  โทร 088 578 6666 หรือ Line ID 14092498

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .