ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 เมษายน 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องวัฒนธรรมของอินเดีย ซึ่งเป็นต้นธารแห่งวัฒนธรรมไทย และ วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

               เมื่อพูดถึงอินเดีย  ก็จะต้องพูดถึงศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่  แม้จะประชนชนอีกจำนวนมากที่นับถือศาสนาอื่นๆ เช่น  ศาสนาอิสลาม  ศาสนาพุทธ  ศาสนาเชน ศาสนาโซโรแอสเทรียน  และอื่นๆ

               ในที่นี้  ผมจะพูดถึงศาสนาฮินดูเป็นหลัก

               ศาสนาฮินดู ที่ได้รับการสั่งสม  กลั่นกรอง  และ พัฒนาในเชิงความคิด  ปรัชญา  วรรณกรรม มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 พันปี  และด้วยเป็นศาสนาที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน  จึงอาจจะมีแนวคิดบางอย่างที่ขัดต่อความรู้สึกของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้

               ผมมักจะบอกคณะนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปชมโบราณสถานกับผมเสมอว่า   เราไม่ควรเอาจริยธรรมของมนุษย์ในพ.ศ.นี้  ไปตัดสินจริยธรรมของมนุษย์เมื่อหลายพันปีที่แล้ว

เพราะไม่ยุติธรรม  เนื่องจาก  บริบทของสังคมมันแตกต่างกัน   

               เมื่อพูดถึงศาสนาฮินดู ก็ต้องพูดถึง บรรดาเทพเจ้าของศาสนาที่มีจำนวนมากมายมหาศาล  จนมีคำกล่าวว่า  เทพเจ้าของฮินดู มีจำนวนมากพอสำหรับชาวฮินดูเอาไว้บูชาคนละองค์เลยทีเดียว


(รูปสลัก ตรีมูรติ จากซ้าย  พระพรหม  พระวิษณุ และ พระศิวะ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แม้ว่า เทพเจ้าของศาสนาฮินดู จะมีจำนวนมากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม  เทพเจ้าที่ได้รับความเคารพอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จะมีเพียงเทพเจ้าหลัก 3 องค์  คือ  พระพรหม  พระวิษณุ  และ  พระศิวะ ที่เรียกรวมกันว่า  ตรีมูรติ  เท่านั้น   

               เมื่อนับถือเทพเจ้า  ก็จะต้องมีห้องที่สำคัญที่สุดที่เป็นที่ประดิษฐานของเทวรูป  เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า การ์บาห์ กริฮา (GARBHA GRIHA)  ที่มีความหมายประมาณว่า  บ้านที่เป็นมดลูก ซึ่งท่านสหวัฒน์ แน่นหนา อดีตอธีบดีกรมศิลปากร ได้ชี้แนะว่า  น่าจะใช้คำว่า  ครรภคฤห์ หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า SANCTUM SANCTORUM 


(ในห้อง GARBHA GRIHA หรือ ห้องศักดิ์สิทธิ์  ตรงหน้าของพราหมณ์ ก็คือ ศิวะลึงค์) 

หลังจากมีห้องอันเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปประจำวิหารแล้ว  ก็จะต้องมีพิธีบูชา (PUJA) ต่อเทพเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่กระทำกันมาช้านานนับเป็นพันปีแล้ว เรื่อยมาแม้จนทุกวันนี้

พิธีบูชาจะกระทำกันทุกตอนเช้า และ ตอนเย็น

เทพเจ้าที่คนส่วนใหญ่มักจะบูชากัน นอกเหนือจากเทพเจ้าประจำวิหารแล้วก็คือ  สุริยเทพ (SURYA)  หรือ เทพพระอาทิตย์  เพราะนอกเหนือจากดวงอาทิตย์จะนำมาซึ่งความสว่าง  ความอบอุ่นให้แก่โลกแล้ว

พระอาทิตย์ ยังมีความสำคัญในระบบสุริยจักรวาล  เพราะพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล ที่มีดาวเคราะห์ล้อมรอบ 8 ดวง   รวมเรียกันว่า  นวครห  

กล่าวในส่วนของความเชื่อของศาสนาฮินดู   ผู้คนจำนวนมากนับถือ สุริยเทพ ว่าเป็นอวตารหนึ่งของ พระวิษณุ  และในอวตารนี้  พระอาทิตย์จึงเป็นที่รู้จักกันในนามของ  สุริยะ นารายัน(SURYA NARAYAN)  


(วิหารพระอาทิตย์ ที่เมืองโมเดห์รา รัฐกุจราฐ ที่มีรูปสลักของ เทพสุริยะ นารายัน  ด้านหน้าก็คือ อาคารเก็บน้ำใต้ดิน )

นารายัน ก็คือ พระวิษณุ  

ดังที่จะเห็นรูปสลักของ สุริยะ นารายัน สลักอยู่โดยรอบของวิหารสุริยเทพ แห่งเมืองโมเดห์รา


(รุปสลักของ สุริยะ นารายัน บนวิหารสุริยเทพแห่งโมเดห์รา)

               แนวความคิดการบูชา พระอาทิตย์ในตอนเช้าและตอนเย็น  จึงเป็นรากฐานทางความคิดในการสร้างวิหารฮินดู  ที่จะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ  เพื่อว่า  ลำแสงของพระอาทิตย์จะส่องเข้าไปในห้องศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้แสงสว่างแก่ห้องดังกล่าว    


(การบูชา สุริยนมัสการ ไม่จำเป็นต้องทำกันที่ริมฝั่งแม่น้ำเสมอ  ที่ใดๆก็ทำได้)

               การบูชาในตอนเช้า  จึงต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เสมือนการต้อนรับพระอาทิตย์ จึงมีชื่อการบูชาดังกล่าวว่า  สุริยะนมัสการ

               เช่น การทำบูชาริมฝั่งแม่น้ำคงคา ในตอนเช้าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ทำบูชา


(วิหารพาราสุราเมศวา ที่เมืองบูห์บาเนสชวา  รัฐโอดิสสา  ขวามือที่เป็นหอคอยสูง  ภายในก็คือที่ตั้งของ GARBHA GRIHA)

               แต่ก็มีบางวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก  เช่น  วิหารพาราสุราเมศวา (PARASURAMESWAR TEMPLE) ที่อยู่ในเมือง บูห์บาเนสชวา รัฐโอดิสสา   

               เพราะเหตุใด  จึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก


(ภาพนี้ถ่ายตอนประมาณ 5 โมงเย็น จากห้องศักดิ์สิทธิ์ ไปทางประตูหน้า พระอาทิตย์ตกจะส่องแสงเข้ามาทางประตู) 

               ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันแน่ชัดว่า  ทำไมจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  แต่มีข้อสังเกตว่า  วิหารส่วนใหญ่ในรัฐโอดิสสาที่สร้างในช่วง ศตวรรษ ที่ 6 ถึงศตวรรษที่ 8 จะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก

               วิหาร พาราสุราเมศวา สร้างในสมัยศตวรรษที่ 7

               อีกสันนิษฐานหนึ่งบอกว่า  เพราะวิหารแห่งนี้  จะมีการบูชาเทพีซัปตา มาทริกา  ซึ่งจะทำกันในตอนเย็นของทุกวัน  ด้วยเหตุนี้  วิหารจึงต้องหันหน้าไปทิศตะวันตก  แทนที่จะเป็นทางทิศตะวันออกเหมือนวิหารอื่นๆ

               ทั้งหมดเป็นข้อสันนิษฐานที่หาข้อสรุปไม่ได้  

               เทพี ซัปตา มาทริกา คืออะไร  สัปดาห์หน้าจะมาเล่าต่อครับ

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .