ซอกซอนตะลอนไป (29 มีนาคม 2563)
อียิปต์โบราณ ใช้ช้างในการทำสงครามหรือไม่(ตอน 2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เมื่อดูภาพสลักตามวิหารโบราณของอียิปต์ จะพบว่า พาหนะที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ในการทำสงครามจะมีเพียง วัว ควาย ม้า รถศึกเทียมม้า หรือ เรือ เท่านั้น
ทำไม ชาวอียิปต์โบราณจึงไม่ใช้ช้างศึกในการทำสงคราม ทั้งๆที่ช้างเป็นสัตว์พื้นเมืองของอัฟริกา
ที่เมืองอัสวาน ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศอียิปต์ มีเกาะกลางแม่น้ำไนล์เกาะหนึ่งชื่อ เกาะช้าง (ELEPHANTINE ISLAND) เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานกันมาตั้งแต่อียิปต์โบราณ ประมาณราชอาณาจักรเก่า(THE OLD KINGDOM) ในช่วง 2886 ถึง 2181 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งในยุคอียิปต์คอปติค(COPTIC) ซึ่งก็คือ ยุคที่ชาวอียิปต์นับถือศาสนาคริสต์เกือบทั้งประเทศ
ข้อสันนิษฐานบางกระแสบอกว่า ชื่อดังกล่าวอาจจะได้มาจากก้อนหินที่อยู่รอบๆเกาะมีลักษณะคล้ายส่วนหัว หรือ ส่วนบั้นท้ายของช้าง
แต่อีกกระแสบอกว่า เพราะบนเกาะดังกล่าวเคยเป็นตลาดกลางที่ค้าขายสินค้าจากอัฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งาช้าง มาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเก่า
เราจึงได้เห็นเครื่องประดับโบราณเป็นสร้อยคอทำด้วยงาช้าง และ พัดมือถือของฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่มีด้ามจับทำด้วยงาช้างสลักพระนามของตุตันคาเมน ทั้งสองชิ้นสร้างในยุคอาณาจักรใหม่(THE NEW KINGDOM) ระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล
หรือประมาณ 3600 ปี ถึง 3100 ปีที่แล้ว
แต่ดูเหมือนว่า อียิปต์โบราณจะไม่ได้นำช้างตัวเป็นๆมาใช้งานในเวลานั้นเลย
ต่อมา ประวัติศาสตร์บันทึกว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อครั้งยกทัพไปทำสงครามในอินเดียประมาณ 327 – 326 ปีก่อนคริสตกาล ก็ได้ประจักษ์ว่า กองทัพของอินเดียใช้ช้างเป็นพาหนะในการทำสงคราม ซึ่งสร้างความแตกตื่นแก่ทหารของอเล็กซานเดอร์เป็นอย่างมาก
ต่อมา เมื่อฮานนิบาล(HANNIBAL) ยกทัพจากเมืองคาร์เธจ(CARTHAGE) ซึ่งก็คือ ประเทศตูนีเซีย ในปัจจุบัน ข้ามช่องแคบยิบรอลต้า ไปยังคาบสมุทรไอบีเรียน(IBERIAN PENNINSULAR) ซึ่งก็คือ สเปนในปัจจุบัน แล้วเดินทัพขึ้นไปเพื่อจะทำสงครามกับ สาธารณรัฐโรมัน(ROMAN REPUBLIC) หมายจะยึดกรุงโรมในราว 218 ปีก่อนคริสตกาล
สงครามครั้งนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่า สงครามพิวนิค ครั้งที่ 2 (SECOND PUNIC WAR )
ฮานนิบาล ได้นำช้างศึกไปร่วมรบกับเขาด้วย แต่น่าเสียดายว่า ช้างศึกเหล่านั้นต้องล้มตายไปมากมายระหว่างเดินทางข้ามเทือกเขาพีเรนิส(PYRENEES) เพราะไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาวมากๆมาก่อน
ครั้งนั้น กองทัพช้างของฮานนีบาลได้สร้างความตื่นตกใจให้แก่กองทัพของโรมันไม่น้อยทีเดียว แต่ช้างก็มีจุดอ่อน ซึ่งเมื่อพวกโรมันจับทางถูก ใช้คบเพลิง และ ไฟในการต่อสู้ ก็สามารถแก้เกมส์จนช้างศึกเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบให้แก่กองทัพของฮานนิบาลแต่อย่างใด
และในที่สุดก็ลงท้ายด้วยความพ่ายแพ้ของฮานนิบาล ทั้งๆที่เกือบจะเอาชนะพวกโรมันได้อยู่แล้ว
ที่น่าสนใจบนเส้นทางล่องเรือสำราญในแม่น้ำไนล์ ที่วิหารคอม ออมโบ ซึ่งเป็นวิหารอียิปต์ในรูปแบบศิลปเกรโก -โรมัน สันนิษฐานว่าสร้างในราว 180 -50 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคของราชวงศ์ปโตเลมี ที่เป็นชาวกรีก
บนผนังจะมีรูปสลักที่ค่อนข้างจะแปลก เพราะมีรูปสัตว์ที่ไม่ว่าจะดูยังไงก็น่าจะเป็นช้าง ปรากฎอยู่
จะเห็นว่า ช่วงเวลาของการแกะสลักที่วิหารคอม ออมโบ นั้น เกิดขึ้นหลังจากสงครามพิวนิค ครั้งที่ 2 ของฮานนีบาลอยู่ประมาณ 30 ปีเศษ จึงน่าจะเป็นไปได้มากที่ ชาวอียิปต์โบราณเริ่มจะรู้จักควบคุมบังคับ และ รู้จักเอาช้างมาใช้หลังจากที่ได้เห็น หรือ ได้รู้ว่า ชาวคาร์เธจสามารถเอาช้างมาใช้ในการทำสงครามแล้ว
แม้ว่าจะภาพสลักการใช้ช้างในสมัยของฟาโรห์ปโตเลมี แต่ก็ไม่มีบันทึกที่ชัดเจนยืนยันได้ว่า ฟาโรห์ใช้ช้างในการทำสงครามที่ไหน กับใคร
เพียงแต่บอกได้ว่า อียิปต์โบราณได้ใช้ช้างในช่วงท้ายๆของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับ ผม โทร 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ Line ID 14092498
สัปดาห์หน้า จะขอเปลี่ยนบรรยากาศไปพูดถึงอินเดียกันครับ
สวัสดีครับ