ซอกซอนตะลอนไป (24 พฤศจิกายน 2562)
เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน8จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ความมหัศจรรย์อีกสิ่งหนึ่งในรัฐโอดิสสา ที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือ วิหารสุริยะเทพ แห่งโคนาร์ค (SUN TEMPLE OF KONARK)
รัฐโอดิสสา ในอดีตคืออาณาจักรคาลิงกาที่ยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็มาพ่ายแพ้แก่พระเจ้าอโศกมหาราช แต่รัฐโอดิสสา ก็ยังมีกษัตริย์ฮินดูปกครองเรื่อยมา แม้ว่าจะประสบกับการรุกรานของกองทัพของมุสลิมเติร์ก ที่หมายจะยึดครองเป็นระยะๆ
ทว่า ไม่ประสบความสำเร็จ
อีกครั้งหนึ่ง ในราวปีค.ศ. 1250 หรือเมื่อประมาณ 750 ปีที่แล้ว ตรงกับไทยก็ประมาณสมัยสุโขทัย กองทัพของมุสลิมเติร์กจากอัฟกานิสถาน ก็ยกทัพรุกรานเข้ามาถึงโอดิสสาอีกครั้ง ยุคนั้นตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์นรสิงหะ เทวา ที่ 1 (KING NARASIMHA DEVA I) ของราชวงศ์ คงคาตะวันออก(THE EASTERN GANGA DYNASTY)
แต่ถูกกองทัพของ พระเจ้านรสิงหะ เทวา ตีโต้จนกองทัพของมุสลิมต้องถอยกลับไป
จากชัยชนะในสงครามครั้งนี้ พระเจ้านรสิงหะ เทวา ก็ได้สร้างวิหารขนาดใหญ่ขึ้น เพื่ออุทิศถวายแด่สุริยะเทพ และ เพื่อเป็นการรำลึกถึงชัยชนะในครั้งนี้ด้วย
ความเชื่อของศาสนาฮินดู สุริยะ หรือ พระอาทิตย์ ถือเป็นเทพเจ้าที่ทรงอำนาจมากที่สุดองค์หนึ่ง และต่อเนื่องมาถึงโหราศาสตร์ฮินดู หรือ โหราศาสตร์พระเวท ที่มีความหมายถึง สังขาร และ ตัวตนของเจ้าชะตา
เมื่อเป็นวิหารที่สร้างถวายแด่สุริยะเทพ แน่นอนว่า ก็ย่อมจะต้องทำเป็นรูปรถเทียมม้า เพราะเมื่อสุริยะเทพเดินทางไปในท้องฟ้า ท่านจะเดินทางไปโดยรถเทียมม้า
รถเทียมม้าดังกล่าวใช้ม้า 7 ตัวด้วยกัน ม้าทั้งเจ็ดตัวมีชื่อเรียกว่า กายาตรี(GAYATRI) บิหาตี(BRIHATI) อุชนีห์(USHNIH) จากาตี(JAGATI) ทิชทูบาห์(TRISHTUBHA) อานุชทูบาห์(ANUSHTUBHA) และ แพงติ(PANKTI)
ทำไมถึงต้องเป็นม้า 7 ตัว ทำไมไม่เป็น 1 หรือ 2 หรือ 4 หรือ 6 ตัว ซึ่งจะเป็นมีเหตุผลในโลกแห่งความจริงมากกว่าที่จะเป็น 7 ตัว เพราะหากเป็นม้า 7 ตัว การออกแรงลากรถของม้าอาจจะมีทิศทางที่ควบคุมยาก
สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคติความเชื่อที่ว่า ในหนึ่งสัปดาห์มีเจ็ดวัน ตามความเชื่อตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ หรือก่อนหน้านั้น
ดังปรากฎในพระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธะสัญญาเก่าที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกใน 6 วัน แล้ว วันที่เจ็ดเป็นวันสะบาโต พระเจ้าจึงให้ทุกคนหยุดทำงานในวันที่เจ็ด
แต่ตำราโหราศาสตร์ไทยบอกว่า อาทิตย์(๑)ถูกสร้างด้วยสิงโต 6 ตัว พระอาทิตย์จึงมีกำลัง 6 และเมื่ออาทิตย์(๑)เสวยอายุ ก็จะเสวยอายุนาน 6 ปี ยังยังไม่สอดคล้องกันกับเรื่องม้า 7 ตัว
สถาปัตยกรรม ของวิหารสุริยะเทพแห่ง โคนาร์ค ก็เช่นเดียวกันกับสถาปัตยกรรมของวิหารฮินดูอื่นๆ ก็คือ มีส่วนที่ประดิษฐานของเทพเจ้าประจำวิหาร อย่างเช่นกรณีนี้ เทพเจ้าประจำวิหารก็คือ สุริยะเทพ อาคารส่วนนี้เรียกว่า แซงทัม แซงโทรัม (SANCTUM SANCTORUM)
อาคารหลังนี้สูง 70 เมตร แต่ปัจจุบันพังเสียหายลงมาเหลือเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น
ถัดออกมาจาก แซงทัม แซงโทรัม ก็คือ อาคารจักกาโมฮาน อาคารที่ผู้มาประกอบพิธีจะใช้ในการรวมตัวกัน หรือ เรียกว่า ห้องประชุม และ นี่คืออาคารส่วนที่ยังเหลืออยู่ของวิหารสุริยะเทพของเมืองโคนาร์ค สูงประมาณ 40 และยังสวยงามสมบูรณแบบมากทีเดียว
ข้อมูลเรื่องความสูงที่ผมเขียนนี้ จะแตกต่างจากที่ปรากฏในวิกิพีเดีย
ทั้งสองอาคารประกอบกันกลายเป็นรถเทียมม้าของสุริยะเทพ ซึ่งมีล้อข้างละ 12 วงล้อ เท่ากับ 12 เดือนในหนึ่งปี
ส่วนหน้าสุด จะเป็นเพียงยกพื้น มีเสาประดับประดา แต่ไม่มีหลังคา ใช้สำหรับเป็นห้องเล่นดนตรี และ ร่ายรำเพื่อถวายแด่เทพเจ้า
ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรม และ ประเพณีนิยมของการสร้างวิหารของศาสนาฮินดู วิหารจะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ เพื่อว่า ลำแสงของพระอาทิตย์ในตอนเช้าจะสาดส่องเข้าไปในวิหารได้
และเหตุที่วิหารหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออกนี่เอง จึงทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า นาฬิกาแดดขึ้นมา ซึ่งนาฬิกาแดด ที่วิหารแห่งโคนาร์ค จะแตกต่างกว่า นาฬิกาแดด ของตะวันตกที่เราเคยเห็นมาก่อน
เพราะนาฬิกาแดดที่นี่ มีความละเอียด และ แม่นยำกว่า นาฬิกาแดดของตะวันตกมาก
สำหรับท่านที่สนใจจะไปพบกับประสบการณ์มหัศจรรย์ของ นาฬิกาแดด ของวิหารสุริยะเทพแห่งโคนาร์ค และต้องการเห็นว่านาฬิกาแดดเรือนนี้ ทำงานอย่างไร เรามีทริปเดินทางเจาะลึกมหัศจรรย์ คุชราฎ และ โอดิสสา ระหว่างวันที่ 7 ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2563 สามารถสอบถามรายละเอียด และสำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ LINE ID 14092598
เรามีที่นั่งจำกัดครับ